google.com, pub-2709829493138336, DIRECT, f08c47fec0942fa0

สุราษฎร์ธานี //ผวจ.สุราษฎร์ฯ ลงพื้นที่รับฟังปัญหาและชี้แจงให้กับประชาชนให้เข้าใจเกี่ยวกับผลกระทบจากโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำคลองสีสุก อันเนื่องมาจากพระราชดำริ.

รายงาน : ชูเกียรติ บุญพร้อม

วันที่ 16 กรกฎาคม 2565 เวลา 10.00 น. ณ โรงเรียนบ้านป่าตง ตำบลต้นยวน อำเภอพนม จังหวัดสุราษฎร์ธานี นายวิชวุทย์ จินโต ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี เดินทางไปยังโรงเรียน บ้านป่าตง ตำบลต้นยวน อำเภอพนม จังหวัดสุราษฎร์ธานี พร้อมคณะนายอำเภอพนม ชลประทาน ผู้ใหญ่บ้าน นายก อบต. หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และประชาชนในพื้นที่ เพื่อรับฟังปัญหาและนำปัญหามาแก้ไขให้กับประชาชน และชี้แจงให้กับประชาชนในพื้นที่เข้าใจให้ถูกต้องกับผลกระทบจากโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำคลองสีสุก อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดสุราษฎร์ธานี และนำเสนอหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป

ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี เปิดเผยว่า โครงการอ่างเก็บน้ำคลองสีสุก อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลคลองชะอุ่น อำเภอพนม จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นโครงการอ่างเก็บน้ำคลองสีสุก ที่เกิดจากนายลำดวน คงเดิม ประธานสภาตำบลคลองชะอุ่น อำเภอพนม ขอพระราชทานพระมหากรุณาธิคุณในการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำพร้อมระบบส่งน้ำ หมู่ที่ 7 ตำบลคลองชะอุ่น เมื่อปี พ.ศ.2533

ต่อมาเมื่อปี พ.ศ.2534 สำนักเลขาธิการพระราชวังได้มีหนังสือกรมชลประทาน เพื่อให้ทราบว่าพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับไว้เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2534 โดยจัดเป็นโครงการขนาดกลาง และให้กรมชลประทานวางโครงการและศึกษา ซึ่งสภาพปัญหาบริเวณที่ตั้งโครงการอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติและที่ดิน ส.ป.ก. บางส่วน ต่อมามีราษฎรจากหลายจังหวัดเข้ามาบุกรุกจับจองเป็นพื้นที่ปลูกยางพารา สวนผลไม้ และปาล์มน้ำมัน ในขณะที่ยังไม่มีการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำได้เกิดชุมชน วัด หมู่บ้าน และโรงเรียน เมื่อทางราชการเข้าไปสำรวจเพื่อจะทำการก่อสร้างปรากฏว่ามีการคัดค้านจากผู้น้ำชุมชนและราษฎรในบางหมู่บ้าน (เช่น หมู่ที่ 9, หมู่ที่ 12 ตำบลคลองชะอุ่นและหมู่ที่ 12 ตำบลต้นยวน) ซึ่งความคืบหน้าการดำเนินงานและการแก้ไขปัญหาปี 2561 จังหวัดสุราษฎร์ธานี มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการดำเนินงานโครงการอ่างเก็บน้ำคลองสีสุกอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานและมีผู้อำนวยการสำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดกลางเป็นกรรมการและเลขานุการ (คำสั่งเมื่อวันที่ 25 ก.ย.61) และจากการเข้าทำความเข้าใจกับประชาชนและผู้นำชุมชนโดยกรมชลประทานร่วมกับฝ่ายปกครอง และ อปท.ในพื้นที่

พบว่าประชาชนที่เห็นด้วยในการสร้างอ่างเก็บน้ำมีจำนวนมากกว่าฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย แต่ได้ข้อสรุปว่าควรมีการทบทวนปรับลดขนาดลง เพื่อไมให้น้ำท่วมวัดและโรงเรียนซึ่งกรมชลประทานได้ดำเนินการทบทวนและศึกษาแนวทางการก่อสร้างใหม่ โดยลดระดับเก็บกักน้ำปานกลางที่ 78.00 เมตรความจุ 4.8 ลบ.ม. พื้นที่น้ำท่วม 600 ไร่ พื้นที่ได้รับประโยชน์ 5,000 ไร่ และจะสร้างฝ่ายทดน้ำด้านท้ายอีก 3 จุด ซึ่งไม่ท่วมวัดและโรงเรียน และคณะกรรมการขับเคลื่อนฯ ระดับจังหวัด มีมติให้สำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดกลางที่ 15 ร่วมกับอำเภอและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ เร่งทำความเข้าใจกับประชาชน ให้ข้อมูลที่ถูกต้องกับราษฎรให้ได้รับทราบผลดีของการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำ เนื่องจากข้อเท็จจริงในพื้นที่จะได้รับผลกระทบจากภาวะฝนแล้งและฝนทิ้งช่วงในช่วงหน้าแล้งทุกปี โดยให้ทำคู่ขนานกันกับการเร่งสำรวจแนวพื้นที่โครงการร่วมกับหน่วยงานเจ้าของพื้นที่ เช่น กรมป่าไม้ ส.ป.ก. โดยให้กระทบ จำนวนน้อยที่สุด.

Social Media Auto Publish Powered By : XYZScripts.com