google.com, pub-2709829493138336, DIRECT, f08c47fec0942fa0

ร้อยเอ็ดชลประทานที่.6 เร่งรัดงานก่อสร้างเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรับมือน้ำหลากฤดูฝนปี 64 ในลุ่มน้ำยัง

ร้อยเอ็ดชลประทานที่.6 เร่งรัดงานก่อสร้างเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรับมือน้ำหลากฤดูฝนปี 64 ในลุ่มน้ำยัง

/สมนึก บุญศรี/ร้อยเอ็ด/0817082129-ข่าว

นายเกียรติศักดิ์ หนูแก้ว ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 6 เปิดเผยหลังจากการลงพื้นที่ติดตามเร่งรัดงานในจังหวัดร้อยเอ็ดว่า พื้นที่ลุ่มน้ำยังเป็นพื้นที่ที่สำนักงานชลประทานที่ 6 เฝ้าระวังเป็นพิเศษเนื่องจากเป็นพื้นที่เสี่ยงเกิดอุทกภัยซ้ำซาก สาเหตุเกิดจากช่วงต้นของลำน้ำยังในเขตจังหวัดกาฬสินธุ์ มีลักษณะกว้างและลาดชันมาก ส่วนช่วงท้ายก่อนบรรจบกับลำน้ำชีในเขตอำเภอเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด มีลักษณะแคบลงและคดเคี้ยว จึงทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วมบริเวณอำเภอเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด เป็นประจำเกือบทุกปี เนื่องจากไม่สามารถระบายน้ำได้ทัน
กรมชลประทานโดยสำนักงานชลประทานที่ 6 จึงได้ดำเนินโครงการก่อสร้างประตูระบายน้ำและงานขุดลอกในพื้นที่ลุ่มน้ำยัง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเก็บกักน้ำและป้องกันบรรเทาปัญหาอุทกภัยในลุ่มน้ำยัง อาทิ ปตร.(ประตูระบายน้ำ)กุดปลาเข็ง ปตร.หนองสนม ปตร.ห้วยวังขอน และขุดลอกคลองผันน้ำห้วยวังหลวง ฯลฯ ซึ่งขณะนี้ผลการดำเนินงานภาพรวมเป็นไปตามแผนแล้วกว่า 90% ซึ่งโครงการดังกล่าวจะสามารถใช้เป็นเครื่องมือบริหารจัดการน้ำเพื่อป้องกันอุทกภัยในพื้นที่ลุ่มน้ำยัง ได้อย่างมีระสิทธิภาพ

นายเกียรติศักดิ์ฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำนักงานชลประทานที่ 6 ได้ดำเนินการตามมาตรการเตรียมการรับมือปัญหาอุทกภัยในลุ่มน้ำยังตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ ตามมาตรการของกรมชลประทานไว้ตั้งแต่เริ่มเข้าสู่ฤดูฝน ด้วยการบริหารจัดการน้ำในอ่างฯ ให้อยู่ในเกณฑ์เก็บกัก (Dynamic Rule Curve)

ตรวจสอบความมั่นคงของเขื่อนและอาคารชลประทานให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน
เร่งรัดให้หน่วยงานกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ ขนย้ายเครื่องจักรเครื่องมือเข้าประจำพื้นที่ทั้งในพื้นที่ลุ่มน้ำยัง และในพื้นที่เศรษฐกิจเมืองร้อยเอ็ด วางแผนใช้อาคารชลประทานบริหารจัดการน้ำและจัดจราจรน้ำชี-มูล รวมถึงกำหนดให้พื้นที่ลุ่มต่ำน้ำยัง เป็นพื้นที่หน่วงน้ำตัดยอดน้ำหลากลงแก้มลิง และการบูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ความช่วยเหลือบรรเทาภัยอันเกิดจากน้ำให้กับพี่น้องประชาชนอย่างเต็มศักยภาพ

ทั้งนี้ สำนักงานชลประทานที่ 6 ได้มอบหมายให้มีผู้รับผิดชอบในการติดตามเร่งรัดงานในแต่ละพื้นที่ให้แล้วเสร็จตามแผนที่วางไว้ รวมถึงได้วางแผนเตรียมความพร้อมรับมืออุทกภัยตั้งแต่ก่อนน้ำมา แผนเผชิญเหตุในภาวะฉุกเฉิน และมาตรการฟื้นฟูหลังน้ำลด ทั้งในพื้นที่ต้นน้ำยังไปจนถึงปลายน้ำ เพื่อลดความเสี่ยงการเกิดอุทกภัยในพื้นที่ให้เกิดผลกระทบกับประชาชนน้อยที่สุด รวมทั้งเตรียมพร้อมเครื่องจักร เครื่องมือ และกำลังคนที่พร้อมจะเข้าไปให้การช่วยเหลือประชาชนได้ทันทีหากเกิดอุทกภัย

/สมนึก บุญศรี/ร้อยเอ็ด/0817082129-ข่าว
/คมกฤช พวงศรีเคน/ภาพ

Social Media Auto Publish Powered By : XYZScripts.com