google.com, pub-2709829493138336, DIRECT, f08c47fec0942fa0

มรภ.อุดรฯ เกี่ยวข้าวแปลงนาห้วยคล้ายกระตุ้นชาวบ้านต่อยอดท่องเที่ยวเชิงเกษตร

ข่าว มรภ.อุดรฯ เกี่ยวข้าวแปลงนาห้วยคล้ายกระตุ้นชาวบ้านต่อยอดท่องเที่ยวเชิงเกษตร

///////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////
วันที่ 2 พฤศจิกายน 2564 เวลา 10.00 น. ที่โครงการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืนอ่างเก็บน้ำห้วยคล้าย ต.กุดหมากไฟ อ.หนองวัวซอ จ.อุดรธานี ผศ.จรูญ ถาวรจักร์ อธิการบดี มรภ.อุดรธานี พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ลงพื้นที่เยี่ยมชมพื้นที่แปลงนาอินทรีย์สาธิต โดยมี นายพลธกร สิงหนุต ปลัดอำเภอหนองวัวซอ นางนฤมล เขาวงกต ผจก.ธ.ธกส.สาขาโนนหวาย อ.หนองวัวซอ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ ผู้นำชุมชน ชาวบ้านโคกล่ามแสงอร่าม ร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นติดตามความคืบหน้าโครงการ U2T ซึ่งมีอาจารย์ นักศึกษา ผู้จ้างงาน U2T ต.กุดหมากไฟ ให้ข้อมูลเพิ่มเติม หลังจากนั้นลงแขกเกี่ยวข้าวในแปลงนาอินทรีย์สาธิตร่วมกัน
ผศ.จรูญ ถาวรจักร์ อธิการบดี มรภ.อุดรธานี เปิดเผยว่า มรภ.อุดรธานี ทำโครงการบริการวิชาการในพื้นที่บ้านโคกล่ามแสงอร่ามหลายโครงการ พร้อมจะผลักดันให้มีการพัฒนาพื้นที่เป็นศูนย์การเรียนรู้ที่คนสามารถมาเรียนรู้เกษตรอินทรีย์ และท่องเที่ยวที่มุ่งเน้นเป็นแหล่งท่องเที่ยวภายใต้หลัก BCG ที่บูรณาการหน่วยงานต่างๆ เข้ามาทำงานร่วมกัน ให้เศรษฐกิจฐานรากมีการขับเคลื่อน โดยวันนี้ได้มาร่วมกิจกรรมการเกี่ยวข้าวลาย เพื่อเก็บเมล็ดพันธุ์ข้าวไว้ใช้ปลูกในปีถัดไป วันนี้ได้มาเน้นย้ำและขยายผลโครงการให้เข้าถึงชาวบ้านให้มากขึ้น กระตุ้นให้เกิดการรับรู้และนำไปใช้ในพื้นที่ให้ได้มากที่สุด
ดร.วิบูล เป็นสุข รองอธิการบดี กล่าวว่า ในปีนี้มหาวิทยาลัย ได้นำเอาประเด็นเรื่องการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร เชื่อมโยงไปถึงแหล่งท่องเที่ยวที่อยู่ใกล้เคียง อาทิเช่น วัดภูตะเภาทอง วัดภูสังโฆ ซึ่งเมื่อฤดูกาลผลิตที่ผ่านมา คณะทำงานได้คิดรูปแบบใหม่ด้านการตลาด โดยให้อาจารย์และนักศึกษา สาขาวิชาทัศนศิลป์และการออกแบบ คณะมนุษยศาสตร์ฯ ออกแบบแปลงนาให้มีรูปภาพที่เกี่ยวข้องกับพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตร เพื่อให้สอดคล้องกับโครงการปิดทองหลังพระสืบสานแนวพระราชดำริ
“โดยใช้แปลงนาของเกษตรกรสมาชิกกลุ่มวิสาหกิจชุมชนปลูกข้าว ซึ่งอยู่ติดกับอ่างเก็บน้ำห้วยคล้าย เป็นทำเลที่มีความสวยงาม มีศักยภาพที่จะเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรได้ เป็นพื้นที่สำหรับดำเนินการ เพื่อดึงดูดให้มีนักท่องเที่ยวเข้ามาในชุมชน พร้อมชูจุดเด่นเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร เน้นนักท่องเที่ยวที่อยากมาเรียนรู้การเกษตรแบบสมาร์ทฟาร์ม มีกิจกรรมเสริมให้ทำ อาทิ สาธิตการดำนา การเกี่ยวข้าว เพื่อเรียนรู้วิถีชีวิตชุมชนความคาดหวังของโครงการ ไม่ได้หยุดอยู่ที่การทำแปลงนาให้เป็นรูปภาพและดึงดูดนักท่องเที่ยวเฉพาะในช่วงฤดูทำนาเท่านั้น”

ดร.วิบูล เป็นสุข รองอธิการบดี เปิดเผยอีกว่า แต่ยังหวังที่จะต่อยอดให้ชุมชนได้ช่วยกันคิดสร้างสรรค์กิจกรรม ที่จะสามารถจูงใจให้มาเที่ยวได้ตลอดทั้งปี อาทิเช่น ร้านกาแฟ ร้านอาหาร สร้างแลนด์มาร์คกระตุ้นแรงจูงใจ ปลูกไม้ดอกไม้ประดับ ปลูกผักผลไม้เมืองหนาว หรือการทำโปรแกรมอบรมระยะสั้นให้กับผู้ที่สนใจ เช่นการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากพืชที่ปลูกตามฤดูกาล เป็นต้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เข้ามาในพื้นที่ และมาจับจ่ายใช้สอยซื้อสินค้าที่เป็นผลผลิต สร้างรายได้ สร้างความยั่งยืนสู่ชุมชนได้อีกทางหนึ่ง

ดร.เอกราช ดีนาง ผอ.สถาบันวิจัยและพัฒนา เปิดเผยว่า U2T เป็นโครงการจ้างงาน นักศึกษา บัณฑิตจบใหม่และประชาชน 60,000 คน ให้เข้าไปปฏิบัติงานในพื้นที่ เพื่อให้เกิดการสร้างงานและพัฒนาแก้ไขปัญหาและเศรษฐกิจของตำบล โดยดำเนินการมาตั้งแต่ 1 ก.พ.64 ถึง 31 ธ.ค.64 มรภ.อุดรธานี รับผิดชอบ 4 จังหวัด (อุดรธานี,หนองบัวลำภู,หนองคาย,บึงกาฬ) 135 ตำบล จากการลงพื้นที่วันนี้ประชาชนส่วนใหญ่ดีใจที่มีการเข้ามาติดตามผลดำเนินการ และอยากให้ดำเนินการต่อไปอีก เนื่องจากมีการใช้องค์ความรู้แลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน โดยเราจะพยายามลงพื้นที่ติดตามผลให้ได้มากที่สุด เพื่อสร้างความเข้มแข็งและความเชื่อมั่นต่อทั้งผู้ร่วมโครงการและชาวบ้านเอง

////////////////////
นายกฤษดา จันทร์ดวง ผู้สื่อข่าว จ.อุดรธานี 0804141617

มุกดาหาร ชาวบ้านตื่นต้นรังสีเหลืองทอง

มุกดาหาร ชาวบ้านตื่นต้นรังสีเหลืองทอง

มุกดาหาร/เมื่อวันที่ 2 พ.ย. 2564 ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งจากนายคำมูล วาปีกุลเศรษฐ์ อายุ 59 ปี บ้านเลขที่ 109 หมู่ 1 บ้านคำตุนาง ตำบลมุกดาหาร อำเภอเมือง จังหวัดมุกดาหาร ว่าต้นรัง หรือต้นฮังที่ปลูกไว้ในสวน มีใบสีเหลืองทอง ลำต้นและก้านมีสีแดง สูงประมาณ 6 นิ้ว สวนมีเนื้อที่ประมาณ 6 ไร่ ปลูกไม้ยืนต้น ปลูกพืชผักสวนครัว และขุดบ่อน้ำ เจ้าของเชื่อมาให้โชค และมีสิ่งดี ๆ ที่จะเกิดกับครอบครัว
นายคำมูล วาปีกุลเศรษฐ์ เปิดเผยว่า ที่สวนได้ลงไม้ยืนต้น และไม้ผล ได้เอาต้นรังมาปลูกตั้งแต่เดือนมิถุนายน นำเมล็ดมาปลูก ประมาณ 20 ต้น บางต้นเกิด บางต้นไม่เกิด บางต้นเกิดมามีสีเขียว และมีหนึ่งต้นที่เกิดมามีสีเหลือง ซึ่งเกิดมาก็ไม่เคยเห็น ต้นรังสีเหลืองทอง ถือว่าเป็นโอกาสดี ชื่นใจและดีใจที่มีต้นไม้แปลก ๆ ที่ออกมาเป็นสีเหลืองทอง ปกติจะเป็นสีเขียว
ตอนแรกเกิดมาต้นเล็กมาก เห็นเป็นสีเหลืองทองคิดว่ามันจะตาย ก็จะขุดออก เอาต้นอื่นมาปลูกแทนต้นเดิม พอมาดูมันยังยืนต้นอยู่ คิดว่ามันน่าจะตาย แต่มันยังไม่ตาย แต่มันก็แตกยอดออกมาเป็นสีเหลืองทอง สังเกตดูว่าดูว่าเกิดมามีใบเป็นสีเหลือง เหมือนมันจะตาย ไม่ได้ใส่ปุ๋ยปล่อยเป็นธรรมชาติ คิดว่าจะได้โชค และความโชคดีของเจ้าของสวน
สำหรับต้นรัง (Burmese sal) ชื่อวิทยาศาสตร์ (Shorea siamensis) เป็นไม้ยืนต้นผลัดใบชนิดหนึ่ง ที่มีอยู่ตามป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง และป่าเต็งรัง ทนแล้ง และทนไฟได้ดี พบในมาเลเซีย พม่า ลาว เขมร และเวียดนาม ส่วนในประเทศไทยกระจายพันธุ์อยู่ในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มักขึ้นตามป่าเต็งรัง ตามเขาหินปูน ตั้งแต่ระดับน้ำทะเลถึงความสูง 1,300 เมตร ส่วนตะวันออกกับภาคใต้ ไม่พบไม้ชนิดนี้

สรรพคุณของต้นรัง ใบนำมาต้มกับน้ำอาบเป็นยาแก้อาการวิงเวียนศีรษะ เปลือกต้มกินน้ำแก้โรคท้องร่วง และใช้ใบแก่สีเขียวมาตำพอกรักษาแผลพุพองได้ดี ยางใช้ผสมกับน้ำมันทาไม้ หรือใช้ยาแนวเรือ ส่วนเนื้อไม้รัง ใช้ในงานการก่อสร้างบ้านเรือนได้ดี เพราะเป็นไม้เนื้อแข็ง มีความทนทานคู่กับไม้เต็ง ด้วยเปลือกต้นมีสีเทา หรือสีน้ำตาลอมเทา มีความแข็งและหนามาก แตกเป็นร่องลึกตามยาวของลำต้น คล้ายรอยไถ เปลือกด้านในสีแดงออกน้ำตาล กิ่งก้านมักคดงอ เรือนยอดเป็นพุ่มโปร่ง แม้แต่ในช่วงผลัดใบ แตกใบอ่อนสีแดงมองไปแล้วสวยงาม จากนั้นในช่วง มี.ค.–เม.ย.จะออก ดอกสีเหลืองอร่าม ส่งกลิ่นหอมอ่อนๆกระจายไปทั่วบริเวณ เลยทำให้คนรักต้นไม้ทรงสวย เศรษฐีหลายราย หลงใหลในเสน่ห์ของต้นรัง สั่งซื้อต้นรังขนาดใหญ่แบบไม้ล้อม ราคาเรือนแสนบาท ขนขึ้นรถบรรทุกมาปลูกประดับในสวนส่วนตัว แม้จะปลูกได้ดี นานหลายปี ต้นรังจะไม่เจริญเติบโต เพราะธรรมชาติของต้นรังชอบขึ้นอยู่ตามป่าแล้ง และเขาปูน ชอบอากาศแห้งๆ พอเอามาปลูกในพื้นที่ราบลุ่มเป็นดินเหนียวอุ้มน้ำแถมฝนตกน้ำท่วมขังบ่อย นอกจากจะไม่โต ใบร่วง รากเน่า ท้ายที่สุดมักจะยืนต้นตายอีกด้วย

ไกรสมุทร นามโพธิ์ไทร/รายงานจากมุกดาหาร
081-0501177

อาจารย์ ภาค นาย ชยกร นิรันดร์ เป็นนักวิจัยที่ทำงานวิจัยข้าว ที่มีคุณภาพ มีจิตวิญญาณของนักพัฒนาสูง

อาจารย์ ภาค นาย ชยกร นิรันดร์

เป็นนักวิจัยที่ทำงานวิจัยข้าว ที่มีคุณภาพ มีจิตวิญญาณของนักพัฒนาสูง
นอกจากพาเกษตรกรชาวนาทำงานวิจัยข้าวเพื่อให้ได้ข้าวสายพันธุ์ดีดีที่มีคุณภาพเหมาะกับสภาวะแวดล้อมและสภาวะอากาศ,ปัญหาดินฟ้าอากาศ และมีรสชาดดี หอม เหนียวนุ่ม ตรงกับลักษณะที่ดีของสายพันธุ์

งานวิจัยข้าวเป็นเพียงเครื่องมือที่ดี ที่อาจารย์ภาคได้นำมา ดึงศักยภาพมาสร้างคุณภาพชีวิตสร้างเศรษฐกิจฐานรากในครัวเรือนให้กับเกษตรกรไทย ฝึกให้เกษตรกรเป็นนักวิจัยชุมชนให้รู้จักตัวเองให้รู้จักดึงศักยภาพตัวเองออกมาใช้ในการพัฒนาการเกษตร ในการพัฒนาสายพันธุ์ข้าวที่ดี เกษตรกรที่ดี ต้องรู้จักพัฒนาตัวเองไปพร้อมๆกับพัฒนาพันธุ์ข้าว
ต้องรู้จักการวางแผน ต้องรู้จักการแก้ปัญหา
ต้องคิดต้นทุนการผลิตได้และเขียนแผนธุรกิจของตัวเองได้ และต้องทำการตลาดเป็น ที่สำคัญต้องมีการจดบันทึกที่เป็นระบบ
ข้อมูลต่างๆจะเป็นสถิติให้ได้เปรียบเทียบและรู้ปัญหาแก้ปัญหาตามข้อมูลเดิมได้ นักวิจัยชุมชนจึงมีความจำเป็นที่ต้องเรียนรู้ความแม่นยำ และความชำนาญ

อย่างเช่นพันธุ์ข้าวเหนียวหอมนาคา
เป็นข้าวเหนียวสายพันธุ์ที่มีกลิ่นหอม เหนียวนุ่ม ไม่เหนียวติดมือ และที่สำคัญสะเทินน้ำสะเทิ้นบก ทนน้ำท่วมทนแล้งสามารถปลูกนาปีและนาปรังได้ ลำต้นแข็งแรงไม่หักล้มง่าย ต้านทานต่อโรคไหม้และขอบใบแห้งได้ผลผลิตสูง(900-1000กก/ไร่)

ข้าวเหนียวหอมนาคา จึงเป็นอีกสายพันธุ์ข้าวที่เป็นดัชนีชี้วัดความสำเร็จในการฝึกนักวิจัยชุมชนในโครงการของ
อาจารย์ภาค นาย ชยกร นิรันดร์
เพราะกลุ่มเกษตรกร
“กลุ่มวิสาหกิจชุมชนพานเพื่อนเกษตร” อ.พาน จังหวัดเชียงราย ได้ฝึกเรียนรู้กับงานวิจัยการทำพันธุ์ข้าวปลูก การคัดพันธุ์ปน การทำพันธ์ุขยาย การทำพันธ์ุจำหน่าย
ของข้าวเหนียวหอมนาคา

และ”วิสาหกิจชุมชนพานเพื่อนเกษตร”
ได้มีพันธุ์ข้าว ข้าวเหนียวหอมนาคา ที่เป็นพันธุ์ข้าวปลูกบริสุทธิ์ 100% คัดพิเศษและมีคุณภาพสูง
เกษตรกรไทยจะได้มีพันธุ์ข้าวที่ดีมีคุณภาพ
เพื่อนำไปปลูก ที่สำคัญเกษตรกรกลุ่มนี้มีตลาดของตัวเองผลิตแล้วมีที่จำหน่ายซึ่งไม่ถูกกดราคา เพราะพันธุ์ข้าวถึงเกษตรกรโดยตรง

ผู้สนใจอยากได้พันธุ์ข้าวเหนียวหอมนาคาคัด100% ไปปลูก อุดหนุนเกษตรกรได้

0930351817
0865480299

#หมอพืชพันไมล์
#นักเกษตรอินทรีย์อิสระ
#นักพัฒณาอิสระ
#สถาบันพัฒนาศักยภาพมนุษย์คุณภาพชีวิตมนุษย์พัฒนาเศรษฐกิจฐานรากแบบครบวงจร
#รวมพลคนอินทรีย์

ศรีสะเกษ !! แม่ค้าขนมหวานขุนหาญโชคดีถูกรางวัลที่ 1 รับเงิน 12 ล้านบาท เผยเคล็ดลับโชคดีจุดธูป 16 ดอกกลางแจ้งและนำเงิน 9 บาทไปฝังดินเพื่อขอให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์เปิดทางนำโชคลาภมาให้

ศรีสะเกษ !! แม่ค้าขนมหวานขุนหาญโชคดีถูกรางวัลที่ 1 รับเงิน 12 ล้านบาท เผยเคล็ดลับโชคดีจุดธูป 16 ดอกกลางแจ้งและนำเงิน 9 บาทไปฝังดินเพื่อขอให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์เปิดทางนำโชคลาภมาให้ จะนำเงินรางวัลที่ได้รับไปใช้หนี้ให้พ่อแม่ ทำบุญและเก็บไว้เป็นทุนการศึกษาของลูกสาว

เมื่อวันที่ 1 พ.ย. 64 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่บ้านเลขที่ 38/1 บ้านกระทิง หมู่ 2 ต.สิ อ.ขุนหาญ จ.ศรีสะเกษ ได้มีบรรดาญาติพี่น้องและเพื่อนบ้านพากันไปแสดงความยินดีกับ น.ส.พิมพ์พิลาศ ดาวงษ์ หรือกุ้ง อายุ 34 ปี ลูกสาวของ นายประเดิม ดาวงษ์ ผญบ.กระทิง หมู่ 1 ที่โชคดีถูกสลากกินแบ่งรัฐบาลรางวัลที่ 1 งวดประจำวันที่ 1 พ.ย. 64 โดยมีการนำเอาฝ้ายมาผูกแขนของ น.ส.พิมพ์พิลาศ ทั้ง 2 แขน เพื่อเป็นการแสดงความยินดีตามแบบของชาวอีสาน ซึ่ง น.ส.พิมพ์พิลาศ ได้นำเอาสลากกินแบ่งรัฐบาลที่ถูกรางวัลที่ 1 งวดที่ 42 ชุดที่ 21 และชุดที่ 22 หมายเลข 045037 จำนวน 2 ใบ มาให้ญาติพี่น้องและเพื่อนบ้านได้ชื่นชมยินดี และได้พากันร้องตะโกนไชโย 3 ครั้งดังลั่นบ้านด้วยความดีใจที่ลูกสาวผู้ใหญ่บ้านโชคดีถูกรางวัลที่ 1 ในครั้งนี้
น.ส.พิมพ์พิลาศ ดาวงษ์ หรือกุ้ง อายุ 34 ปี สาวผู้โชคดี กล่าวว่า ก่อนหน้าที่ตนจะโชคดี ตนได้รับคำแนะนำจากอาสาวและดูจาก TikTok ทราบว่า หากอยากโชคดีให้จุดธูป 16 ดอก กลางแจ้งและนำเอาเงิน 9 บาทไปฝังดินไว้เพื่อขอให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์เปิดทางให้มีโชคลาภเข้ามาหา หลังจากที่ได้ทำพิธีดังกล่าวแล้วเมื่องวดวันที่ 16 ต.ค. 64 ตนถูกรางวัลเลขท้าย 3 ตัวตรง ได้รับเงินรางวัลประมาณ 10,000 บาท จากนั้น ช่วงประมาณวันที่ 25 ต.ฅ. 64 ที่ผ่านมา ตนได้ซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาลจากยายคนหนึ่งที่นำเอาสลากินแบ่งรัฐบาลมาเดินเร่ขายที่บ้านของตน โดยตนได้ซื้อมาจำนวน 24 ใบ

ส่วนการที่ได้เลือกซื้อฉบับที่ถูกรางวัลนั้น เนื่องจากตนชอบเลข 045 เพราะว่าเป็นหมายเลขโทรศัพท์และคิดว่าหมายเลขที่ออกรางวัลแล้ว หมายเลขนั้นมักจะวนเวียนมาออกใกล้เคียงกับหมายเลขที่เคยออกรางวัลไปก่อนนี้แล้ว
น.ส.พิมพ์พิลาศ ดาวงษ์ หรือกุ้ง อายุ 34 ปี สาวผู้โชคดี กล่าวต่อไปว่า และในช่วงบ่ายของวันนี้ ( 1 พ.ย.64) ตนได้นำเอาสลากกินแบ่งรัฐบาลที่ซื้อไว้มานั่งตรวจจากทีวีที่กำลังออกผลสลากกินแบ่งรัฐบาล และปรากฏว่า สลากกินแบ่งรัฐบาลที่ตนซื้อไว้ได้ถูกรางวัลที่ 1 ทำให้ตนดีใจมากร้องตะโกนดีใจลั่นบ้าน รีบไปบอกพ่อแม่ให้ทราบ และตนได้รีบนำเอาสลากกินแบ่งรัฐบาลที่ถูกรางวัลที่ 1 ไปแจ้งความกับพนักงานสอบสวน สภ.ขุนหาญไว้เป็นหลักฐานแล้ว ส่วนกำหนดเวลาที่จะนำเอาเงินไปขึ้นรางวัลที่กรุงเทพฯนั้น จะต้องปรึกษาหารือกับพ่อแม่ญาติพี่น้องเสียก่อน สำหรับเงินรางวัลที่จะได้รับมาจำนวน 12 ล้านบาทนั้น จะนำเอาเงินไปใช้หนี้ให้กับพ่อแม่ที่มีอยู่ประมาณ 1 ล้านบาท จากนั้น จะนำเอาเงินไปทำบุญ ส่วนเงินที่เหลือจะเก็บไว้เป็นทุนการศึกษาให้กับลูกสาวของตน โดยตนจะยังคงประกอบอาชีพขายขนมหวานที่ตลาดเช้า อ.ขุนหาญเช่นเดิมต่อไป

************
ข่าว/ภาพ … บุญทัน ธุศรีวรรณ ศรีสะเกษ

นายอำเภอศิลาลาดร่วมใจปิดกั้น-ป้องกันน้ำท่วมนาข้าว นั่งเรือเกี่ยวข้าวหนีน้ำท่วมช่วยชาวนา

นายอำเภอศิลาลาดร่วมใจปิดกั้น-ป้องกันน้ำท่วมนาข้าว นั่งเรือเกี่ยวข้าวหนีน้ำท่วมช่วยชาวนา

เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2564 ที่อำเภอศิลาลาด จังหวัดศรีสะเกษ นายกองตรี ไตรรัตน์ เครือบุดดีมหาโชค นายอำเภอศิลาลาด ลงพื้นที่ช่วยชาวนาร่วมใจกันนำกระสอบทรายปิดกั้นประตูน้ำลำน้ำเสียว โดยมีนายมหินทร เทพิน เกษตรอำเภอ นายจรูณ. สาลีวัน ส.อบจ.อำเภอศิลาลาด กำนัน ผู้ใหญ่บ้านและพี่น้องประชาชน ม.1,ม.2,ม.6,ม.9 ต.หนองบัวดง ร่วมกันนำกระสอบทรายปิดกั้นประตูน้ำลำน้ำเสียว เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำจากลำน้ำเสียว ไหลเอ่อล้นเข้าท่วมนาข้าวของเษตรกร
หลังจากนั้นนายกองตรี ไตรรัตน์ เครือบุดดีมหาโชค นายอำเภอศิลาลาด และคณะ ก็ได้ร่วมนั่งเรือเกี่ยวข้าวหนีน้ำท่วมช่วยชาวนาตำบลหนองบัวดง อำเภอศิลาลาด จังหวัดศรีสะเกษ ด้วย

นายกองตรี ไตรรัตน์ เครือบุดดีมหาโชค นายอำเภอศิลาลาด กล่าวว่า อำเภอศิลาลาด ได้รับผลกระทบจากมวลน้ำ ไหลล้นจากลำน้ำชีหนุนลำน้ำเสียว ล้นเข้าท่วมพื้นที่นาข้าวของพี่น้องชาวนา ทำให้นาข้าวได้รับความเสียหาย มากกว่า 1,700 ไร่ คุมพื้นที่ 3 ตำบล 8 หมู่บ้าน ได้แก่ ตำบลกุง หมู่ที่ 1, 4 ,13 ตำบลคลีกลิ้ง หมู่ที่ 4 และตำบลหนองบัวดงหมู่ที่ 1, 2, 6, 9 ในการนี้อำเภอศิลาลาด ได้รับการสนับสนุนเครื่องสูบน้ำ จากชลประทาน 1 เครื่อง จาก สำนักงาน ปภ.จังหวัดศรีสะเกษจำนวน 2 เครื่อง และจาก อบต.กุง 2 เครื่อง เร่งสูบน้ำออกนาข้าว เพื่อลดความเสียหาย โดย อบต.กุง ให้การสนับสนุนน้ำมัน และเร่งสูบน้ำ ตลอดเวลา เพื่อช่วยเหลือพี่น้องชาวนา อ.ศิลาลาด จังหวัดศรีสะเกษ ต่อไป
นายอำเภอศิลาลาด กล่าวต่อไปว่า ขณะนี้อำเภอศิลาลาด ได้เร่งสำรวจความเสียหาย เพื่อให้ความช่วยเหลือพี่น้องชาวนา โดยเร่งด่วนแล้ว

*************
ข่าว/ภาพ…… บุญทัน ธุศรีวรรณ ศรีสะเกษ

จ.ราชบุรี/พัฒนาการจังหวัดราชบุรี เยี่ยมชมแปลงผัก บุคคลต้นแบบและเชิดชูเกียรติการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการ๙๐วัน” ปลูกผักสวนครัว โรงพักตำรวจ

จ.ราชบุรี/พัฒนาการจังหวัดราชบุรี เยี่ยมชมแปลงผัก บุคคลต้นแบบและเชิดชูเกียรติการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการ๙๐วัน” ปลูกผักสวนครัว โรงพักตำรวจ

นางยุพิน เศรษฐศักดาศิริ พัฒนาการจังหวัดราชบุรี พร้อมด้วย นายณัฎฐิพล วงศ์เมธี ผู้อำนวยการกลุ่มงานสารสนเทศการพัฒนาชุมชน, พัฒนาการอำเภอสวนผึ้ง เยี่ยมชมแปลงผักของสถานีตำรวจภูธรสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี ซึ่งเป็นแปลงผักที่ได้รับรางวัล บุคคลต้นแบบและเชิดชูเกียรติการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการ 90วัน” ปลูกผักสวนครัว เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร” ในระดับผู้บริหารคือ พันตำรวจเอกทูน เดชคุณมาก ผู้กำกับสถานีตำรวจภูธรสวนผึ้ง อำเภอสวนผึ้ง ซึ่งเป็นบุคคลที่น้อมนำแนวพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี เพื่อเป็นการลดรายจ่ายในการดำรงชีวิตของข้าราชการตำรวจและประชาชนทั่วไป ในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว เป็นแหล่งอาหารในครัวเรือน โดยเน้นการพึ่งพาตนเอง และความสามัคคีของคน ในชุมชน ด้วยการบูรณาการทำงานกับทุกภาคส่วนให้เห็นผลเป็นรูปธรรม และเพื่อสร้างขวัญและกำลังใจให้ผู้ปฏิบัติงาน รวมถึงสร้างต้นแบบของคนทำงานที่มีผลงานดีเยี่ยมและเป็นที่ประจักษ์แก่สาธารณชน ในการนี้พัฒนาการจังหวัดฯ ได้มอบเมล็ดพันธุ์พระราชทาน แก่ พันตำรวจเอก ณวัฒน์ ศุกลรัตน์ ผู้กำกับสถานีตำรวจภูธรสวนผึ้ง เพื่อแจกจ่ายต่อข้าราชการตำรวจและประชาชนทั่วไป เพื่อขยายพันธุ์พืช เนื่องในโอกาสที่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้มูลนิธิชัยพัฒนา ร่วมกับมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ดำเนินการจัดตั้ง “ศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ” เพื่อเป็นที่ระลึกในวาระครบรอบ 100 ปี พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ พร้อมทั้งกล่าวชื่นชมผลการดำเนินงานที่เป็นรูปธรรมและประจักษ์ต่อสาธารณชน
การขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการ 90 วัน “ปลูกผักสวนครัว เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร” ประกอบด้วย 5 กิจกรรม ได้แก่ 1.จะพัฒนาใครต้องเริ่มจากตัวเราก่อน เจ้าหน้าที่ทุกระดับปลูกผักสวนครัวอย่างน้อย 5 ชนิด เพื่อเป็นตัวอย่างแก่ประชาชน และสร้างกระบวนการเรียนรู้ในระดับบุคคล

2.ผู้นำต้องทำก่อน ทำเป็นตัวอย่างร่วมกิจกรรมปลูกผักสวนครัวเพื่อสร้างกระแส กระตุ้นให้ขับเคลื่อนได้อย่างรวดเร็ว 3.ผนึกกำลัง ตั้งระบบทำให้ครบวงจร มีแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนระดับอำเภอ/จังหวัด ในการบูรณาการคน/งาน/งบประมาณ/ความรู้-สร้างกระแสการรับรู้ 4.ส่งเสริมการปลูกผักสวนครัวแบบเข้าถึงทุกครัวเรือน ทีมปฏิบัติการหมู่บ้านลงไปให้คำแนะนำและกระตุ้นปฏิบัติการ โดยเน้นการพึ่งตนเอง ใช้ความสามัคคีช่วยกันทำในลักษณะกลุ่มเล็กๆ และ 5.สร้างเครือข่ายขยายผล เชื่อมโยงการแลกเปลี่ยนเมล็ดพันธุ์/ต้นกล้า แบ่งปันพันธุ์พืชชนิดที่มีในชุมชนให้ชุมชนที่ขาดแคลนในรูปแบบโครงการทอดผ้าป่าต้นไม้ รวมกลุ่มนำผลผลิตที่เหลือจากการบริโภค ทำบุญ ทำทาน แบ่งปัน ไปแปรรูปและจำหน่าย
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาพันธุ์พืชให้เกษตรกรและราษฎรได้มีพืชสายพันธุ์ดี ผลผลิตมีคุณภาพ ทนทานต่อโรคและแมลง นำไปเพาะปลูกไว้กินเอง ลดรายจ่ายในครัวเรือน เป็นปัจจัยช่วยให้มีรายได้และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ตลอดจนเก็บสะสมเมล็ดพันธุ์สำรองไว้ปลูกในรุ่นต่อไป ซึ่งเป็นกลไกหนึ่งที่จะช่วยให้ราษฎรสามารถพึ่งพาตนเองได้ในช่วงที่เกิดภัยพิบัติต่างๆ เช่น โรคระบาดที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน เป็นต้นในการลงพื้นที่และมอบเมล็ดพันธุ์ในครั้งนี้ ได้ถือปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID – 19) โดยเคร่งครัด

สุพจน์ วรสหวัฒน์จ.ราชบุรี/รายงาน

นครราชสีมา – ผู้ว่าโคราชพร้อมนายกอบจ.โคราชเปิดพื้นที่ให้เกษตรผู้ปลูกกล้วยขายหลังผลผลิตล้นตลาดระบายผลผลิตกว่า 750 ตันสร้างรายได้

นครราชสีมา – ผู้ว่าโคราชพร้อมนายกอบจ.โคราชเปิดพื้นที่ให้เกษตรผู้ปลูกกล้วยขายหลังผลผลิตล้นตลาดระบายผลผลิตกว่า 750 ตันสร้างรายได้

วันที่ 15 ตุลาคม 2564 นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมาพร้อมด้วยดร.ยลดา หวังศุภกิจโกศล นายกอบจ.นครราชสีมาได้เปิดพื้นที่ให้เกษตรผู้ปลูกกล้วยหอมทองในจังหวัดนครราชสีมามาเปิดท้ายขายกล้วยบริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา ต.ในเมือง อ.เมือง จ.นครราชสีมา หลังจากสินค้าล้นตลาดในช่วงที่ไวรัสโควิด 19 ระบาดทำให้เกษตรกรไม่สามารถส่งสินค้าหรือขายในช่องทางอื่นได้ โดยภายในงานก็มีเกษตรกรเป็นจำนวนมากขนกล้วยจำนวนกว่า 750 ตันมาวางขายโดยจะขายตามขนาดขนาดไซด์ M หวีละ 20 บาท ไซด์ L หวีละ 30 บาท และไซด์ XL หวีละ 40 โดยมีผู้คนสนใจมาจับจ่ายซื้อเป็นจำนวนมาก ซึ่งกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 14 – 15 ต.ค.2564
ดร.ยลดา หวังศุภกิจโกศล นายกอบจ.นครราชสีมา เปิดเผยว่า วันนี้ก็ได้นำเกษตรผู้ปลูกกล้วยจากอำเภอเสิงสางที่ประสบปัญหาโควิด 19 ระบาด

ทำให้ไม่สามารถที่จะนำกล้วยหอมส่งขาย รวมถึงขึ้นห้างสรรพสินค้าได้ เนื่องจากห้างไม่ค่อยมีคนเดินจับจ่าย และพ่อค้าที่มาซื้อก็มีกำลังซื้อน้อย ทำให้มีกล้วยหอมทองจำนวนกว่า 750 ตันตกค้าง ขายไม่ออก ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนจากผลกระทบดังกล่าว จึงประสานงานพาณิชย์จังหวัด เกษตรจังหวัด นำกล้วยหอมทองมาจำหน่ายหน้าศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา เพื่อระบายกล้วยหอมที่มี ในราคาถูก
ด้านนายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยว่า วันนี้ตนก็ได้เปิดพื้นที่ให้ทางเกษตรกรมาขายกล้วยหอมทองที่ล้นตลาด ซึ่งวันนี้ก็มีคนเหมาไปจำนวน 11 ตันแล้ว ทราบว่าคนที่เหมาไปนั้นได้ไปทำถุงยังชีพเพื่อช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่ประสบอุทกภัยอยู่ในขณะนี้ ส่วนถ้าใครสนใจก็มาได้ที่บริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา โดยจะมีกล้วยมาขายทุกวันวันละ 20 ตัน แถมกล้วยหอมทองนั้นเป็นผลผลิตที่ดีด้วย ราคาถูกกว่าท้องตลาดในตอนนี้ครึ่งต่อครึ่งเลยทีเดียว

ภาพ-ข่าว / อภิรักษ์ ศรีอัศวิน ผู้สื่อข่าวภูมิภาค จ.นครราชสีมา

สุโขทัย วอนช่วยซื้อปลาหมอหลังน้ำท่วมนานปลาเริ่มตายและหนีออกบ่อ

สุโขทัย วอนช่วยซื้อปลาหมอหลังน้ำท่วมนานปลาเริ่มตายและหนีออกบ่อ

กลุ่มเกษตรกรเลี้ยงปลาหอดงเดือย ต.ดงเดือย อ.กงไกรลาศ จ.สุโขทัย วอนขอให้ช่วยซื้อปลาหมอหลังจากเกิดน้ำท่วมขังสูงกว่า 1 เดือน จากพิษพายุ เตี้ยนหมู่ ทำให้ปลาเริ่มน๊อคน้ำตายจำนวนมาก และบางส่วนหนีออกจากบ่อ หวันขาดทุนหลายแสนบาท
นายดนัย อัมพะวัน อายุ 40 ปี บ้านเลขที่ 5/4 ม.9 ต.ดงเดือย อ.กงไกรลาศ จ.สุโขทัย เกษตรกรผู้เลี้ยงปลาหมอ กล่าวว่า ได้ลงทุนเลี้ยงปลาหมอจำนวน 3 หมื่นตัว ในพื้นที่นา 3 ไร่ ลงทุนไปประมาณ 12,0000 บาท อายุปลาประมาณ 3 เดือน กำลังจะได้น้ำขึ้นขาย แต่เจอพิษพายุ เตี้ยนหมู่ ทำให้เกิดน้ำท่วมบ่อปลาระดับน้ำสูงกว่า 1 เมตร โชคดีที่สามารถใช้ลี่น้ำเงินกั้นปลาไว้ได้บางส่วน

ปัจจุบันปลาเริ่มน๊อคน้ำตายและหนีออกจากบ่อจำนวนมาก จึงวอนให้ช่วยเหลือซื้อปลาที่กลุ่มเกษตรกรปลาหมอดงเดือย ซึ่งมีสมาชิกจำนวน 64 คน กำลังได้รับผลกระทบเนื่องจากน้ำท่วมขังสูงเช่นกัน และยังคงมีปลาที่ต้องการช่วยเหลือประมาณ 10 ตัน บางรายต้องขาดทุนกว่า 2 แสนบาทเพราะไม่สามารถป้องกันบ่อปลาไว้ได้ สำหรับราคาขายยินดีขายในราคากิโลกรัมละ 80 บาท ติดต่อได้ที่ คุณกิฎตินันท์ อัมพะวัน เบอร์โทร 0956414338

กิตติ พรดวงจันทร์ สุโขทัย 0821632939

อดีตครูช่างยนต์หันเพาะเลี้ยงปูนาออร์แกนิก โกยเงินวันละหมื่นถึงแสน ยันไม่ใช่แชร์ลูกโซ่

อดีตครูช่างยนต์หันเพาะเลี้ยงปูนาออร์แกนิก โกยเงินวันละหมื่นถึงแสน ยันไม่ใช่แชร์ลูกโซ่

สุดยอด! อดีตครูช่างยนต์ หันเพาะเลี้ยงปูนาออร์แกนิก สร้างรายได้วันละ 1 หมื่น ถึง 1 แสนบาท ต่อยอดแปรรูปหลากหลาย ทั้งน้ำพริกนรก แจ่วบอง ดองสมุนไพร ซุปต้มยำก้อน ข้าวเกรียบ เฟรนช์ฟรายส์ คอร์นเฟลกส์ ปูนาสติ๊ก ส่งขายจีน เยอรมัน ยันไม่ใช่แชร์ลูกโซ่ เผยจุดเริ่มต้นจากความตั้งใจ อยากให้ภรรยาได้กินปูนาที่อร่อย และสะอาดที่สุด

หลังจากที่นายนราธิป ภูมิถาวร หรือครูทอม อายุ 38 ปี เจ้าของฟาร์มปูนาชญาดา เลขที่ 90/3 หมู่ 2 ต.ย่านยาว อ.สวรรคโลก จ.สุโขทัย ได้หันหลังให้กับอาชีพครูสอนช่างยนต์ในวิทยาลัยเอกชนแห่งหนึ่ง แล้วทุ่มเททดลองเพาะเลี้ยงปูนาแบบออร์แกนิกอย่างจริงจังมาตลอด 6 ปีที่ผ่านมา

ล่าสุด (11 ต.ค.) นายนราธิป เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า เริ่มต้นศึกษาเพาะเลี้ยงปูนาแบบออร์แกนิก ตั้งแต่ไม่มีความรู้อะไรเลย จนตอนนี้สามารถแปรรูป ตั้งกลุ่มเป็นโอทอป เป็นวิสาหกิจชุมชน สร้างรายได้ต่อวันไม่ต่ำกว่า 10,000 บาท สูงสุดเคยทำมาแล้วถึง 100,000 บาทต่อวัน และปัจจุบันมีสมาชิกเครือข่ายมากกว่า 100 สาขาทั่วประเทศ

นอกจากเพาะเลี้ยงขายพ่อพันธุ์แม่พันธุ์คู่ละ 80-100 บาท ก็ยังนำมาแปรรูปได้อีกมากมาย ทั้งปูดองสมุนไพร น้ำพริกปลาย่างมันปูนา น้ำพริกนรกปูนา แจ่วบองมันปูนา โดย สสว. และสภาเกษตรกรจังหวัดสุโขทัย ช่วยสนับสนุนการพัฒนาแพคเกจจิ้ง และทำกล่องบรรจุภัณฑ์ให้เริ่มต้นจำนวน 5,000 ชิ้น เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า พร้อมส่งขายทั้งในและต่างประเทศ เช่น จีน เยอรมัน แล้วก็มีขายในระบบออนไลน์ด้วย

นายนราธิป บอกว่า นอกจากการแปรรูปเป็นน้ำพริก ยังมีการต่อยอดแปรรูปปูนาออร์แกนิก ทำเป็นซุปต้มยำก้อน ข้าวเกรียบ เฟรนช์ฟรายส์ คอร์นเฟลกส์ และปูนาสติ๊ก อีกด้วย พร้อมยืนยันว่าอาชีพนี้ไม่ใช่แชร์ลูกโซ่หลอกขายพ่อแม่พันธุ์ปูนาแน่นอน เพราะที่นี่รับซื้อคืนเพื่อนำไปแปรรูป และเป็นแหล่งสร้างตลาดให้สมาชิก แถมวัตถุดิบจากปูนาก็สามารถแยกชิ้นส่วนขายได้อีก เช่น อกปู (กิโลกรัมละ 600 บาท) ก้ามปู (กิโลกรัมละ 700 บาท) มันปู (กิโลกรัมละ 1,500 บาท) ทุกชิ้นส่วนเป็นเงินหมด แม้กระทั่งปูตายก็เอามาทำน้ำหมักชีวภาพเป็นปุ๋ยได้อย่างดี

ทั้งนี้ นายนราธิป หรือครูทอม ยังได้เผยจุดเริ่มต้นของการเลี้ยงปูนาแบบออร์แกนิกน้ำใสด้วยว่า เกิดจากความตั้งใจอยากจะให้ภรรยาได้กินปูนาที่อร่อย และสะอาดที่สุด จึงคิดค้นวิธีการเพาะเลี้ยงและแปรรูปขึ้นมา พร้อมระบุข้อความดังกล่าวไว้ข้างกล่องบรรจุภัณฑ์ ให้โลกได้รับรู้อีกด้วย ผู้สนใจศึกษาเรียนรู้ติดต่อได้ที่เบอร์ 066-1547775 (ครูทอม)

กิตติ พรดวงจันทร์ สุโขทัย0821632939

กาฬสินธุ์รมช.เกษตรติดตามสถานการณ์น้ำชีรับฟังปัญหาด้านการเกษตร

กาฬสินธุ์รมช.เกษตรติดตามสถานการณ์น้ำชีรับฟังปัญหาด้านการเกษตร

“มนัญญา ไทยเศรษฐ์” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรละสหกรณ์ นำทีมที่ปรึกษาลงพื้นที่ตรวจติดตามเตรียมรับมือมวลน้ำ ยันสถานการณ์น้ำกาฬสินธุ์ไม่ซ้ำรอยปี 54 พร้อมเข้ารับฟังปัญหาด้านการเกษตร
เมื่อเวลา 11.00 น.วันที่ 9 ตุลาคม 2564 ที่วัดลำชีศรีวนาราม ต.ลำชี อ.ฆ้องชัย จ.กาฬสินธุ์ นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายทรงพล ใจกริ่ม ผู้ว่าราชการ จ.กาฬสินธุ์ นางวันเพ็ญ เศรษฐรักษา ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ นายสนั่น พงษ์อักษร รองผู้ว่าราชการ จ.กาฬสินธุ์ พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ตรวจติดตามสถานการณ์น้ำ เพื่อเตรียมรับมือกับมวลน้ำจาก จ.ชัยภูมิ ซึ่งได้ไหลลงมาตามแม่น้ำชี ปัจจุบันอยู่มวลน้ำอยู่ที่ จ.ขอนแก่น และกำลังเข้าสู่ จ.กาฬสินธุ์ และจังหวัดอื่นๆ ก่อนไหลลงสู่แม่น้ำมูลและแม่น้ำโขง พร้อมมอบถุงยังชีพ ข้าวสารอาหารแห้ง เมล็ดพันธุ์ถั่วลิสงไทนาน 9 จากกรมวิชาการเกษตร รับฟังปัญหา และให้กำลังใจประชาชนใน ต.ลำชี อ.ฆ้องชัย จ.กาฬสินธุ์
นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า จากการรับฟังรายงานสถานการณ์น้ำ ซึ่งเกิดจากอิทธิพลของพายุเตี้ยนหมู่ที่ผ่านมา ทำให้มีฝนตกหนักใน จ.ชัยภูมิ และเกิดอุทกภัยขึ้น โดย จ.ชัยภูมิเป็นต้นน้ำของแม่น้ำชี ทำให้มวลน้ำจำนวนมากไหลลงสู่แม่น้ำชี และไหลลงมาที่ จ.ขอนแก่น จนน้ำล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ของขอนแก่น และขณะนี้มวลน้ำได้ไหลต่อเนื่อง ปัจจุบันอยู่ที่ อ.โกสุมพิสัย และ อ.กันทรวิชัย จ.มหาสารคามแล้ว คาดการณ์ว่ามวลน้ำจะไหลลงมาสู่พื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ ในอีก 2-3 วันนี้ อย่างไรก็ตามขอให้พี่น้องเกษตรกร ประชาชนมั่นใจว่าสถานการณ์น้ำปีจะไม่ซ้ำรอยปี 2554 เนื่องจากกระทรวงเกษตรฯ โดยกรมชลประทาน มีแผนบริหารจัดการน้ำที่ดี และมีพื้นที่รับน้ำแก้มลิง ตลอดจนมาตรการเยียวยาตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2562 และหลักเกณฑ์วิธีปฏิบัติปลีกย่อยเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือด้านการเกษตรผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2564 คือ ครัวเรือนละไม่เกิน 30 ไร่ แบ่งเป็น ข้าว ไร่ละ 1,340 บาท พืชไร่และพืชผัก ไร่ละ 1,980 บาท ไม้ผลไม้ยืนต้นและอื่นๆ ไร่ละ 4,048 บาท

ด้านนายทรงพล ใจกริ่ม ผู้ว่าราชการ จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของ จ.กาฬสินธุ์ ได้มีการเตรียมความพร้อมในการรับมวลน้ำดังกล่าว โดยมีพนังกั้นน้ำลำชี ความยาวประมาณ 53 กม. เสริมความสูง 80 ซม.ไว้ป้องกันน้ำท่วมได้ และได้ทำการเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์ อย่างไรก็ตามยังมีพื้นที่บางส่วนที่อยู่นอกเขตพนัง และจุดลุ่มต่ำ เช่น บ้านท่าแห่ บ้านโนนชัย ต.ฆ้องชัย และบ้านด่านใต้ บ้านเหล่าอ้อย ต.ร่องคำ ปริมารน้ำอาจล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่การเกษตรบางส่วน ซึ่งทาง จ.กาฬสินธุ์ ได้แจ้งเตือนไปยังอำเภอที่เกี่ยวข้องให้เฝ้าระวัง แจ้งเตือนประชาชน และขนย้ายสิ่งของเก็บขึ้นที่สูงไว้เป็นระยะอย่างต่อเนื่องแล้ว
จากนั้นนางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายวิรัช พิมพะนิตย์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นางวันเพ็ญ เศรษฐรักษา ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เข้ารับฟังปัญหาด้านการเกษตรของ จ.กาฬสินธุ์ ในโอกาสลงพื้นที่ตรวจราชการตามนโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

โดยมีนายชานุวัฒน์ วรามิตร นายกอบจ.กาฬสินธุ์ ผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และผู้นำชุมชน ให้การต้อนรับและเสนอปัญหา ที่ห้องประชุมสภาองค์การบริหารส่วน จ.กาฬสินธุ์
โดย รมช.มนัญญา ได้รับฟังปัญหาต่างๆ อาทิ การกู้ยืมเงินสำหรับสมาชิกสหกรณ์ที่มีดอกเบี้ยสูง ซึ่งในเรื่องของราคาสินค้าเกษตรนั้น กระทรวงเกษตรฯ ได้เร่งหาแนวทางช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกร โดยที่ผ่านมาได้หารือร่วมกับผู้ประกอบการปุ๋ย เพื่อขอความร่วมมือแก้ปัญหาปุ๋ยราคาแพง รวมถึงปัญหาต่างๆ และนำข้อมูลไปวางแนวทางแก้ไขปัญหาต่อไป พร้อมเน้นย้ำให้ทุกส่วนราชการเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำและให้ความช่วยเหลือเกษตรกรได้ทันท่วงที นอกจากนี้ยังได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไป เพื่อส่งเสริมเกษตรกรในการปลูกผักอินทรีย์ สร้างรายได้

Social Media Auto Publish Powered By : XYZScripts.com