google.com, pub-2709829493138336, DIRECT, f08c47fec0942fa0

เยี่ยมสวนคำข้าว เกษตรวัดญาณฯ ปลูกละมุดยักษ์ 100 ต้น บนพื้นที่ 17 ไร่ หวังอนุรักษ์ให้คนรุ่นใหม่ได้ลิ้มลองรสชาติผลไม้พื้นบ้านโบราณ

เยี่ยมสวนคำข้าว เกษตรวัดญาณฯ ปลูกละมุดยักษ์ 100 ต้น บนพื้นที่ 17 ไร่ หวังอนุรักษ์ให้คนรุ่นใหม่ได้ลิ้มลองรสชาติผลไม้พื้นบ้านโบราณ

นายรณภูมิ พรหมแพทย์ นักธุรกิจผู้บริหาร บจก.พัทยาระบบน้ำและสวน ได้พาเยี่ยมชมสวนคำข้าว บนพื้นที่ 17 ไร่ ย่านเกษตรวัดญาณฯ ติดอ่างเก็บน้ำทาบฟักทอง ต.ห้วยใหญ่ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี ซึ่งใช้เป็นพื้นที่ปลูกต้นละมุดยักษ์รวมทั้งสิ้น 100 ต้น ซึ่งในขณะนี้ถือว่าเป็นช่วงที่ผลไม้กำลังออกผลให้เก็บเกี่ยว และในอนาคตจะมีแผนเปิดสวนอย่างเป็นทางการ

นายรณภูมิ พรหมแพทย์ เปิดเผยว่า ได้เพาะพันธุ์ต้นละมุดยักษ์ปลอดสารพิษซึ่งเป็นผลไม้พื้นบ้านโบราณที่นับวันยิ่งหารับประทานยากเพื่อขยายพันธุ์ไว้ภายในสวนคำข้าว เป้นพืชที่ดูแลง่าย เพราะต้องการหากิจกรรมทำในเวลาว่าง หลังจากเก็บเกี่ยวผลผลิตหวังที่จะให้ประชาชนและนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ได้ลิ้มลองรสชาติที่มีความอร่อยหวานกรอบของละมุดยักษ์ในสวน

ทั้งนี้ ทางสวนคำข้าวจะได้นำลูกละมุดยักษ์ไปตั้งเต๊นท์จำหน่ายบริเวณหน้า บจก.พัทยาระบบน้ำและสวน เลขที่ 653 ม.12 ริมถนนสุขุมวิทพัทยา ต.หนองปรือ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี ตั้งแต่เวลา 09.00-16.00 น. ของทุกวัน ช่วงนี้จะมีจำหน่ายทุกวัน และทางสวนมีโปรโมชั่น ซื้อ 10 กิโลกรัมแถม 1 กิโลกรัม สำหรับผู้ที่สนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่หมายเลข 099-442 2993 หากซื้อไปไม่ได้คุณภาพยินดีรับเปลี่ยนคืน

ผักกาดเขียวพื้นถิ่นเพาะเมล็ดพันธุ์จากรุ่นสู่เพื่อน

ผักกาดเขียวพื้นถิ่นเพาะเมล็ดพันธุ์จากรุ่นสู่เพื่อน

ผู้สื่อข่าวรายงาน หลังไปด้รับแจ้งว่าทีกลุ่มเกษตรกรนำเมล็ดพันธุ์ผักกาดเขียวแบ่งปันกันเพื่อปลูกลงดิน โดยหากปลูกเสร็จสิ้นได้ผลผลิตแล้วจะมีการนำเมล็ดพันธุ์ผักกาดเขียวที่ได้และเหลือใช้ในการปลูกรุ่นต่อไปแจกให้เพื่อนเกษตรกรที่ต้องการปลูกสำหรับบริโภคในครัวเรือนหรือจำหน่ายภายในตลาดชุมชน หรือตลาดนัดในพื้นที่จังหวัดพังงา หลังจากเก็บเกี่ยวต้นผักกาดเขียว แยกดอกออกจากต้นพร้อมแยกเมล็ดพันธุ์เก็บไว้ปลูกต่อ ทำให้ผักกาดเขียวมีการปลูกในบริเวณบ้านของชาวพังงาจำนวนมากในอดีต ปัจจุบันความเจริญเข้าสู่ยุคดิจิตอล วิถีชีวิตหลายครัวเรือนเปลี่ยนไปทำให้ผักกาดเขียวมีปลูกน้อยลงจนหาเกษตรกรผู้ปลูกยากมากขึ้น ส่วนราคาลดลงเนื่องจากความต้องการน้อยลงจากที่ผักชนิดอื่นที่ปลูกเป็นผักเศรษฐกิจ เช่น ผักกวางตุ้ง ผักกาดขาว ผักกาดเขียวปลี เข้ามาแทนที่ ผักกาดเขียว นิยมนำมาดองไว้ประกอบอาหารเช่นเดียวกับผักกาดเขียวปลี แต่มีลักษณและรสชาดแตกต่างกันมาก

ซึ่งทาง นางอุดมศิลป์ ถือทอง อายุ 60 กลุ่มเกษตรกรบ้านถ้ำทองหลาง อยู่เลขที่ 45/1 ม.2 ต.ถ้ำทองหลาง อ.ทับปุด จ.พังงา ได้บอกต่อสื่อมวลชนว่า ผักกาดเขียวเป็นผักเฉพาะพื้นถิ่นมีในจังหวัดพังงาและใกล้เคียง ลักษณะคล้ายผักกวางตุ้ง แต่มีลำต้นและใบใหญ่กว่า มีทั้งลักษณะ ผักกาดเขียวแบน และผักกาดเขียวกลม โดยดูจากก้านของลำต้น ผักกาดเขียวกลมมีความโค้งมนของก้านมากกว่า ผักกาดเขียวแบน สำหรับนำมาบริโภคเรียกว่าสามารถประกอบอาหารได้ทุกชนิด เช่นเดียวกับ ผักกาดเขียวปลี ผักกวางตุ้ง โดยเบื้องต้นได้ทำแกงเลียง ใส่คู่กับ บวบ กะปิ จนน้ำเดือด ยกใส่ถ้วย พร้อมรับประทานบนโต๊ะอาหาร สำหรับผู้สนใจจะปลูกผักกาดเขียว ต้องการเมล็ดพันธุ์สามารถติดต่อได้ที่เบอร์โทร.064-0495925 ของตนเอง

กาฬสินธุ์เตือนเกษตรกรทำนาปรังระวังโรคไหม้ข้าว-แมลงระบาด

กาฬสินธุ์เตือนเกษตรกรทำนาปรังระวังโรคไหม้ข้าว-แมลงระบาด

ชาวนาในพื้นที่ใช้น้ำโครงชลประทานกาฬสินธุ์ และโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำปาวหรือเขื่อนลำปาว ที่จังหวัดกาฬสินธุ์ ลงมือทำนาปรังเกือบเต็มพื้นที่ โดยหันมาทำนาหว่านเพื่อประหยัดต้นทุน แต่หว่านข้าวถี่และแน่นเกินไปจะเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคหรือแมลงศัตรูข้าวรบกวน ด้านเกษตรจังหวัดเตือนให้ชาวนาหมั่นสำรวจแปลงข้าวอย่างสม่ำเสมอ ถ้าพบมีปัญหาให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรในพื้นที่ ก่อนที่จะเกิดโรคหรือแมลงระบาดลุกลามเป็นวงกว้าง
เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2565 ผู้สื่อข่าวรายงาน จากการติดตามบรรยากาศการประกอบอาชีพทำนาปรัง ของชาวนาในพื้นที่ใช้น้ำโครงชลประทานกาฬสินธุ์ และโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำปาวหรือเขื่อนลำปาว เขตพื้นที่ อ.เมือง อ.กมลาไสย อ.ยางตลาด และอ.ฆ้องชัย พบว่าได้ลงมือทำนากันเกือบเต็มพื้นที่ โดยส่วนมากทำนาหว่าน เพราะประหยัดค่าจ้างแรงงาน ในขั้นตอนการถอนกล้า ปักดำ รวมทั้งสิ้นเปลืองค่าจ้างรถไถพรวนและตีดินหลายครั้ง
ทั้งนี้ ในฤดูกาลทำนาปรังปีนี้ หลังจากโครงชลประทานกาฬสินธุ์ และโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำปาวหรือเขื่อนลำปาว แจ้งว่ามีปริมาณน้ำต้นทุนเพียงพอต่อการใช้สอยทุกกิจกรรม ทั้งเพื่อการอุปโภค บริโภค และประกอบอาชีพเกษตรกรรม การประมง จึงพบว่าเกษตรกรที่อยู่พื้นที่ใช้น้ำดังกล่าว ได้ลงมือทำนาปรังกันเป็นบริเวณกว้าง โดยบริเวณต้นน้ำที่ได้รับน้ำก่อน ต้นข้าวกำลังเจริญเติบโต ขณะที่บริเวณกลางน้ำและปลายน้ำ กำลังอยู่ในขั้นตอนไถพรวน ตีดิน และหว่านข้าว โดยมีความหวังว่าราคาขายข้าวเปลือกนาปรัง จะได้ราคาสูงกว่าขายข้าวเปลือกนาปี
ด้านนายพงษ์ศักดิ์ ชินคีรี เกษตร จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า เพื่อชาวนาที่ทำนาปรังจะได้ผลผลิตข้าวเปลือกสูง เมล็ดข้าวมีคุณภาพ สิ่งที่ชาวนาต้องกำกับดูแลอย่างใกล้ชิดคือบริหารจัดการเรื่องน้ำ ต้องมีหล่อเลี้ยงในแปลงนาอย่างเพียงพอ และระมัดระวังเรื่องโรคระบาด รวมทั้งแมลงศัตรูข้าวรบกวน เพราะหากควบคุมเรื่องน้ำไม่ได้ อาจจะเป็นสาเหตุทำให้ต้นข้าวไม่เจริญงอกงาม ผลผลิตต่ำ ขณะที่หากการป้องกันโรคและแมลงไม่ได้

ก็อาจเป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคระบาดในนาข้าวได้
นายพงษ์ศักดิ์กล่าวอีกว่า การทำนาปรังซึ่งเป็นพืชอายุสั้น อายุประมาณ 120 วันเก็บเกี่ยว โดยทั่วไปจะพบว่าชาวนาจะทำนาหว่าน ซึ่งจะทำให้ต้นข้าวหนาแน่น และเร่งการเจริญเติบโต ด้วยการใช้ปุ๋ยเร่งทั้งทางรากและทางใบ เป็นสาเหตุของการเกิดโรคและแมลงศัตรูข้าวรบกวนได้ง่าย ดังนั้น ชาวนาต้องหมั่นสำรวจแปลงนาของตนอย่างสม่ำเสมอ หากพบเกิดโรคหรือแมลงศัตรูข้าวระบาด ให้รีบปรึกษาเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรในพื้นที่ และใช้ชีวภัณฑ์ในการป้องและกำจัดศัตรูข้าว เช่น ใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มา สำหรับป้องกันและกำจัดโรคไหม้ข้าว และใช้เชื้อราบิวเวอเรีย สำหรับกำจัดแมลงศัตรูข้าว
ทั้งนี้เกษตรกรสามารถขอรับการสนับสนุนชีวภัณฑ์ดังกล่าว จากสำนักงานเกษตรอำเภอ หรือศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชนในพื้นที่ อย่างไรก็ตามเกษตรกรต้องหมั่นสำรวจแปลงข้าวอย่างสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันและกำจัดศัตรูข้าว ก่อนที่จะเกิดการระบาด ทำให้ต้นข้าวเสียหายและผลผลิตต่ำ อย่างไรก็ตาม ในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ ยังไม่พบการระบาดของโรคและแมลงศัตรูข้าวรบกวนแต่อย่างใด

ภาพ/ข่าว – คณัสนันท์ ภูจารึก จ.กาฬสินธุ์

เชียงใหม่ อุดหนุนผักกาดขาวปลีจากเกษตรกรแม่ริมกว่า 10 ตัน ช่วยเหลือเกษตรกร

เชียงใหม่ อุดหนุนผักกาดขาวปลีจากเกษตรกรแม่ริมกว่า 10 ตัน ช่วยเหลือเกษตรกร

ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ร่วมกับหัวหน้าส่วนราชการจังหวัดเชียงใหม่ อุดหนุนผักกาดขาวปลีจากเกษตรกรอำเภอแม่ริมกว่า 10,000 กิโลกรัม เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรเฉพาะกิจจนกว่าราคาในท้องตลาดจะสูงกว่ากิโลกรัมละ 5 บาท

บ่ายวันนี้ (2 ก.พ.) ที่บริเวณตลาดประชารัฐ หน้าศูนย์ราชการจังหวัดเชียงใหม่ นายประจญ ปรัชญ์สกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมด้วย นางอุบลรัตน์ พ่วงภิญโญ หัวหน้าสำนักงานจังหวัดเชียงใหม่ , นายปฐมชาติ ศรีเจริญจิตร์ หัวหน้ากลุ่มส่งเสริมและพัฒนาเกษตรกรสำนักงานเกษตรจังหวัดเชียงใหม่ และหัวหน้าส่วนราชการ ร่วมกิจกรรมโครงการ “เกษตรกรสุขใจ ชาวเชียงใหม่ช่วยกินผัก” รับมอบผักกาดขาวปลีจำนวนกว่า 10,000 กิโลกรัม ซึ่งส่วนราชการกว่า 20 หน่วยงาน อาทิ องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่, สำนักงานท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดเชียงใหม่, มณฑลทหารบกที่ 33 ,โครงการชลประทานเชียงใหม่ ,สำนักงานหนังสือเดินทางต่างประเทศ ,สำนักงานจังหวัด, สำนักงานชลประทานจังหวัด ,สำนักงานโยธาธิการจังหวัด, หน่วยงานทหาร และสาธารณสุขจังหวัดฯ ได้อุดหนุนรับซื้อจากเกษตรกรแม่ริมมาในราคากิโลกรัมละ 5 บาท เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรจากปัญหาราคาผักกาดขาวปลีในท้องตลาดตกต่ำอยู่ที่ กิโลกรัมละ 1 – 1.50 บาท ให้นำไปประกอบอาหารได้บริโภคผักที่ปลอดสารพิษและมีคุณภาพ

อย่างไรก็ตาม การช่วยเหลือดังกล่าวเป็นเพียงการช่วยเหลือเฉพาะกิจในช่วงที่ราคาผลผลิตสินค้าเกษตรตกต่ำเท่านั้น หากสถานการณ์ราคาผักกาดขาวปลีขยับสูงขึ้นเกินกว่ากิโลกรัมละ 5 บาท ก็จะได้ดำเนินการไปช่วยเหลือราคาสินค้าเกษตรอื่น ๆ ต่อไป และในวันศุกร์ที่ 4 กุมภาพันธ์ นี้ สำนักงานเกษตรจังหวัดเชียงใหม่ จะได้จัดพื้นที่ให้เกษตรกรชาวสวนผัก นำผักกาดขาวปลี มาจัดจำหน่ายให้ผู้สนใจ ในราคาถุงละ 50 บาท บรรจุถุงละ 10 กิโลกรัม ที่ตลาดเกษตร บริเวณศูนย์ราชการจังหวัดเชียงใหม่ ด้วย จึงขอเชิญชวนผู้สนใจร่วมสนับสนุนผักกาดขาวปลีจากพี่น้องเกษตรกรในครั้งนี้

////////////////
ศรัญญา นันตา/ศราวุธ เจิมจันทร์/เมธาวรรณ อาภรณ์ ข่าว-ภาพ
สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงใหม่
2 กุมภาพันธ์ 2565

หมายเหตุ : ดาวน์โหลดวิดีโอได้ที่ลิงค์
https://drive.google.com/file/d/17XuPkCRvwShrZb-xXtuTqoCeh38jwulX/view?usp=sharing

กรมวิชาการเกษตร ลุ้น 15 ปี ส้มโอไทยได้ผงาดลุยตลาดอเมริกา

กรมวิชาการเกษตร ลุ้น 15 ปี ส้มโอไทยได้ผงาดลุยตลาดอเมริกา

กรมวิชาการเกษตร รัวแจกข่าวดีสหรัฐไฟเขียวเปิดตลาดนำเข้าส้มโอไทยแบบไม่จำกัดพันธุ์ หลังคอยนาน 15 ปี นักวิจัยแจงเงื่อนไขส้มโอต้องผ่านการฉายรังสี 400 เกรย์ แหล่งผลิตและโรงคัดบรรจุต้องได้รับการรับรอง พร้อมลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการตรวจสอบผลไม้ฉายรังสีก่อนส่งออก มั่นใจรสชาติและสีสันเฉพาะตัวส้มโอไทยมัดใจผู้บริโภค เผยปี 64 สร้างรายได้เข้าประเทศทะลุ 900 ล้านบาท

นายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า กรมวิชาการเกษตรได้รับแจ้งข่าวดีจากหน่วยงานบริการตรวจสอบสุขอนามัยพืชและสัตว์ (APHIS) ประจำประเทศไทย ว่า ประเทศสหรัฐอเมริกาอนุญาตให้นำเข้าส้มโอผลสดจากประเทศไทยภายใต้เงื่อนไขการนำเข้าที่กำหนดแล้ว และผู้ประสงค์จะส่งออกส้มโอผลสดไปสหรัฐอเมริกาต้องลงทะเบียนกับกรมวิชาการเกษตร เพื่อเข้าร่วม “โครงการตรวจสอบผลไม้ฉายรังสีก่อนการส่งออก” นับเป็นข่าวดีที่รอคอยมานานถึง 15 ปี หลังจากที่กรมวิชาการเกษตรได้เสนอขอเปิดตลาดส้มโอเมื่อปี 2549 พร้อมกับผลไม้อีกหลายชนิด แต่ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันได้รับอนุญาตจากสหรัฐอเมริกาให้นำเข้าได้เพียง 7 ชนิด คือ มะม่วง มังคุด เงาะ ลำไย ลิ้นจี่ สับปะรด และแก้วมังกร เนื่องจากการที่จะอนุญาตให้นำเข้าผลไม้ชนิดใดก็ตามจะต้องผ่านขั้นตอนการวิเคราะห์ความเสี่ยงศัตรูพืชจากประเทศผู้นำเข้าเพื่อป้องกันมิให้มีแมลงศัตรูพืชกักกันที่ไม่มีในประเทศผู้นำเข้าติดปนเปื้อนไปกับผลผลิต ซึ่งประเทศไทยได้ใช้เงื่อนไขการวิเคราะห์ความเสี่ยงศัตรูพืชก่อนที่จะอนุญาตให้มีการนำเข้าผลไม้จากประเทศอื่นๆ ด้วยเช่นกัน

ประเทศไทยมีส้มโอมากกว่า 30 พันธุ์ที่มีลักษณะเด่น ได้แก่ พันธุ์ทับทิมสยาม เปลือกผลบาง เนื้อนิ่มมีสีชมพูเข้มหรือสีแดงเข้มคล้ายทับทิม มีเมล็ดน้อย รสชาติหวานไม่มีรสขมเจือปน ผิวผลส้มโอมีขนอ่อนนุ่มปกคลุมคล้ายกำมะหยี่ มีแหล่งปลูกที่สำคัญอยู่ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช พันธุ์ขาวแตงกวา ผนังกลีบสีขาว เปลือกบาง เนื้อกุ้งใหญ่สีขาวแห้ง รสชาติหวานฉ่ำ ให้ผลดก เป็นที่ต้องการของตลาด มีแหล่งปลูกที่สำคัญอยู่ที่จังหวัดชัยนาท และพันธุ์ทองดี ผิวเรียบ ผนังกลีบสีชมพู เนื้อกุ้งสีชมพู รสชาติหวาน ฉ่ำน้ำ ขายได้ราคาดี มีแหล่งปลูกที่สำคัญอยู่ที่จังหวัดนครปฐม สมุทรสาคร ราชบุรี เป็นต้น ซึ่งส้มโอไทยแต่ละพันธุ์มีรสชาติและสีสันที่เป็นเอกลักษณ์แตกต่างจากส้มโอจากประเทศอื่น ทำให้ตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคได้เป็นอย่างดี รวมทั้งยังเป็นผลไม้ที่สามารถเก็บรักษาได้ระยะเวลายาวนานจึงเหมาะสมต่อการขนส่งทั้งทางเครื่องบินและทางเรือ ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยสามารถส่งออกส้มโอผลสดไปจำหน่ายในต่างประเทศได้จำนวน 29 ประเทศ โดยมีตลาดหลักที่สำคัญ ได้แก่ จีน และมาเลเซีย ในปี2564 ประเทศไทยส่งออกส้มโอจำนวน 29,782 ตัน คิดเป็นมูลค่ากว่า 903 ล้านบาท

นางสาวชลธิชา รักใคร่ ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยการกักกันพืช สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า ได้รับหนังสือจากหน่วยงาน APHIS แจ้งให้ทราบถึงการอนุญาตการนำเข้าส้มโอผลสดจากประเทศไทยโดยให้เพิ่มส้มโอเข้าอยู่ภายใต้โครงการฉายรังสีที่มีการดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน และให้ส่งข้อมูลเพิ่มเติมที่เกี่ยวข้องกับส้มโอเพื่อประกอบการประเมินจากคณะที่ปรึกษาโครงการฉายรังสี (Preclearance Advisory Group) เพื่อพิจารณาออกใบอนุญาตให้นำเข้าต่อไป ซึ่งการดำเนินการมาถึงขั้นตอนนี้แล้วคาดว่าในฤดูกาลผลิตส้มโอเดือนสิงหาคม 2565 นี้จะสามารถส่งออกส้มโอล๊อตแรกจากประเทศไทยไปจำหน่ายที่สหรัฐอเมริกาได้แล้ว

สำหรับเงื่อนไขการส่งออกส้มโอผลสดไปสหรัฐอเมริกานั้นผลผลิตต้องมาจากแหล่งผลิตที่ได้รับการรับรอง GAP โรงคัดบรรจุได้รับการรรับรองตามมาตรฐาน GMP ก่อนการส่งออกต้อง ล้าง ขัด ฆ่าเชื้อ และจุ่มสารเคมีเพื่อกำจัดเชื้อราตามคำแนะนำของกรมวิชาการเกษตร รวมทั้งผู้ส่งออกต้องลงทะเบียนเข้าร่วม “โครงการตรวจสอบผลไม้ฉายรังสีก่อนการส่งออก”กับกรมวิชาการเกษตร โดยผลผลิตส้มโอที่จะส่งออกต้องผ่านการฉายรังสีที่ 400 เกรย์เพื่อกำจัดแมลงวันผลไม้ซึ่งสามารถทำได้ทั้งก่อนส่งออกหรือที่จุดนำเข้าในประเทศสหรัฐอเมริกา โดยหากฉายรังสีที่จุดนำเข้าไม่ต้องใช้ใบรับรองสุขอนามัยพืช แต่ต้องผ่านการตรวจสอบทุกล๊อตที่นำเข้า ซึ่งการอนุญาตให้นำเข้าส้มโอจากไทยต้องเป็นการส่งออกเพื่อการค้าเท่านั้น ผู้ที่ต้องการส่งออกส้มโอผลสดไปสหรัฐอเมริกาสามารถสอบรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่กลุ่มวิจัยการกักกันพืช สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร โทรศัพท์ ‪0-2940-6670‬ ต่อ 142 หรือ ‪0-2579-3496‬

ผู้ว่าฯแม่ฮ่องสอน ติดตามสถานการณ์ผลผลิต “ผักกาดขาว” ตกต่ำ เร่งหาแนวทางช่วยเหลือ

🔴ผู้ว่าฯแม่ฮ่องสอน ติดตามสถานการณ์ผลผลิต “ผักกาดขาว” ตกต่ำ เร่งหาแนวทางช่วยเหลือ

========
🔻🔻🔻🔻
สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดแม่ฮ่องสอน เปิดเผยว่า วันที่ 28 มกราคม 2565 ที่ผ่านมา นายเชษฐา โมสิกรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นประธานการประชุมติดตามสถานการณ์การผลิตและราคาจำหน่ายผลผลิตทางการเกษตรผักกาดขาว โดยมีนางสาวยุพา นาคา พาณิชย์จังหวัดแม่ฮ่องสอน ผู้แทนสำนักงานเกษตรจังหวัดแม่ฮ่องสอน สำนักงานจังหวัดแม่ฮ่องสอน และผู้แทนประชาสัมพันธ์จังหวัดแม่ฮ่องสอน ร่วมประชุม ณ ห้องประชุมยุทธศาสตร์ ศาลากลางจังหวัดแม่ฮ่องสอน
จังหวัดแม่ฮ่องสอนมีพื้นที่เพาะปลูกผักกาดขาว ประมาณ 500 ไร่ มีผลผลิตประมาณ 800 ตัน ปลูกมากในพื้นที่อำเภอเมือง และอำเภอแม่สะเรียง ส่งจำหน่ายให้ผู้รวบรวม , โรงงานตัดแต่งในอำเภอแม่สะเรียง และจังหวัดเชียงใหม่เป็นหลัก ขณะที่ในปีนี้จังหวัดแม่ฮ่องสอน มีสภาพอากาศที่หนาวเย็นและนานกว่าปีที่ผ่านมา รวมทั้งราคาผักกาดขาวช่วงก่อนหน้านี้ราคาค่อนข้างสูง จูงใจให้เกษตรกรขยายพื้นที่เพาะปลูกเพิ่มขึ้น ประกอบกับผลผลิตผักกาดขาวในหลายจังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย เพชรบูรณ์ และตาก ออกสู่ตลาดในช่วงเดียวกันเป็นจำนวนมาก ทำให้ราคาที่เกษตรกรจำหน่ายได้ ต่ำกว่าต้นทุนการผลิต

ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน กล่าวว่า การประชุมในครั้งนี้ เป็นการติดตามสถานการณ์การผลิต และราคาจำหน่ายผลผลิตทางการเกษตรโดยเฉพาะผักกาดขาว เพื่อเป็นการวางแผนการปลูก การจำหน่าย การให้ความรู้แก่เกษตรกรผู้ปลูก ทั้งด้านการผลิต และการตลาด อันจะนำไปสู่การกำหนดพื้นที่และปริมาณการปลูกที่เหมาะสม และเกิดประโยชน์กับเกษตรกรมากที่สุด และเพื่อให้การดำเนินการดังกล่าวประสบความสำเร็จ และเกิดประโยชน์ต่อเกษตรกร จึงมอบหมายให้สำนักงานเกษตรจังหวัดแม่ฮ่องสอน วางแผนการผลิต พื้นที่เพาะปลูก ปริมาณการผลิต และการแปรรูปสินค้าเกษตรหลักของจังหวัด และมอบหมายให้สำนักงานพาณิชย์จังหวัด ดูแลกลไกตลาด ราคา และประสานงานผู้ประกอบการเข้ารับซื้อผลผลิตจากเกษตรกร โดยมีกำหนดลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์ผักกาดขาวในพื้นที่อำเภอเมือง และอำเภอแม่สะเรียง ระหว่างวันที่ 29-30 มกราคม 2565

ภาพข่าวจาก สะอาด กาวีเปิ๊บ

พาณิชย์แม่ฮ่องสอน นำทีมลงพื้นที่บ้านห้วยโป่งกานและบ้านไมโครเวฟ รับฟังความคิดเห็นเกษตรกร ราคาผลผลิตตกต่ำ ขอให้รัฐช่วยเหลือเร่งด่วน

🔴พาณิชย์แม่ฮ่องสอน นำทีมลงพื้นที่บ้านห้วยโป่งกานและบ้านไมโครเวฟ รับฟังความคิดเห็นเกษตรกร ราคาผลผลิตตกต่ำ ขอให้รัฐช่วยเหลือเร่งด่วน

========
🔻🔻🔻🔻
วันที่ 29 มกราคม 2565 นางสาวยุพา นาคา พาณิชย์จังหวัดแม่ฮ่องสอน ร่วมกับ นางสาวลักษณาวดี ขำผุด รักษาการหัวหน้าสำนักงานกองทุนฟื้นฟู และพัฒนาเกษตรกรจังหวัดแม่ฮ่องสอน ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์ และรับฟังความเห็นจากเกษตรกรประมาณ 20 คน ในพื้นที่บ้านห้วยโป่งกาน ตำบลผาบ่อง และบ้านไมโครเวฟ ตำบลห้วยโป่ง อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน พบว่าราคาตกต่ำเนื่องจากมีผลผลิตในหลายจังหวัดออกสู่ตลาดเพิ่มจากปีก่อน มีการนำเข้าผักจากจีนมาจำหน่ายในประเทศ ประกอบกับจังหวัดแม่ฮ่องสอนมีลักษณะภูมิประเทศเป็นภูเขา การขนส่งสินค้าระยะทางเท่ากัน แต่จังหวัดแม่ฮ่องสอนต้องใช้ระยะเวลามากกว่าจังหวัดอื่น ๆ 2 เท่า ทำให้ต้นทุนการขนส่งสูง

โดยเกษตรกรขอให้ภาครัฐช่วยเหลือ ดังนี้ มาตรการเร่งด่วนคือ หาผู้ประกอบการมารับซื้อผลผลิตหน้าสวนในราคา 3 บาท/กก. โดยเกษตรกรรับผิดชอบค่าแรงในการตัดและขนจัดเรียงขึ้นรถบรรทุก, สนับสนุนปัจจัยการผลิต เช่น ปุ๋ย ยา เป็นต้น ในราคา ที่ถูกลง ในการปลูกพืชฤดูกาลถัดไป
ในส่วนของมาตรการระยะยาว ให้ช่วยแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ, กองทุนฟื้นฟูและพัฒนา เกษตรกรช่วยเหลือสนับสนุนเงินกู้ปลอดดอกเบี้ย, ปรับเปลี่ยนพื้นที่ ปลูกผักกาดขาวและกะหล่ำปลี เป็นผักปลอดภัย เพื่อเพิ่มมูลค่า และส่งเสริมเป็นพื้นที่ท่องเที่ยวหรือส่งเสริมอาชีพ/ปลูกพืชอื่นๆ ที่สร้างรายได้ที่ดีให้เกษตรกร

ภาพข่าวจาก สะอาด กาวีเปิ๊บ

ประธานแม่บ้านมหาดไทย ชลบุรี ลงแปลงผักในจวน ขยายผล โครงการบ้านนี้ มีรักปลูกผักกินเอง

ประธานแม่บ้านมหาดไทย ชลบุรี ลงแปลงผักในจวน ขยายผล โครงการบ้านนี้ มีรักปลูกผักกินเอง

มีรายงานว่า นางสุภาพร เทียนไชย นายกเหล่ากาชาดจังหวัดชลบุรี ในฐานะประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดชลบุรี พร้อมด้วยนางน้อยทิพย์ มหาผลศิริกุล รองประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดชลบุรี และนางปัทมา วิวัฒน์วานิช รองประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดชลบุรี ขยายผล “โครงการบ้านนี้ มีรักปลูกผักกินเอง”

โดยมีเจ้าหน้าที่จากสำนักงานเกษตรจังหวัดชลบุรี ให้ความรู้ในการปรับปรุง ปลูกผักสวนครัวชนิดอื่นเพิ่มเติมในพื้นที่เดิมเพื่อเป็นการปลูกผักหมุนเวียนให้มีผลผลิตตลอดทั้งปี และบำรุงรักษาต้นเดิมโดยการใส่ปุ๋ย พรวนดิน ตัดแต่งกิ่ง ให้เติบโตเจริญงอกงาม การปลูกผักสวนครัวในครัวเรือนเป็นการสร้างความมั่นคงทางอาหาร และเพื่อรณรงค์ให้ครอบครัวเกิดความรักความอบอุ่นจากที่ได้ร่วมกันทำกิจกรรมการปลูกผัก มีความผูกพันในครอบครัว มีอาหารที่พอเพียง เหลือก็แบ่งปันเพื่อนบ้าน เป็นสังคมแห่งความเอื้อเฟื้อ

นอกจากนี้ ในสถานที่ดังกล่าว ยังได้จัดสถานทีเตรียมปลูก “ถั่วฝักยาวสีม่วง สิรินธร” ซึ่งเมล็ดพันธุ์ที่ปลูกเป็นหนึ่งในเมล็ดพันธุ์ผักพระราชทาน สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มูลนิธิชัยพัฒนาจัดตั้งศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ เพื่อเป็นเมล็ดพันธุ์สะสมสำรอง เพื่อพระราชทานแก่ราษฎรในพื้นที่ประสบภัย และราษฎรทั่วไป

และเพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชดั้งเดิม ร่วมคิด ร่วมปฏิบัติเผยแพร่ เพิ่มความเข้าใจให้ชัดเจนสำหรับการฟื้นฟูและดำรงชีพด้วยตนเองตามแบบวิถีชีวิตใหม่ (New Normal) ซึ่งจะนำไปสู่ความยั่งยืนในระดับพื้นที่ และเกิดประโยชน์แก่คนไทย อีกทั้งเป็นการอนุรักษ์พืชผักถิ่น พันธุ์พื้นเมือง และขยายพันธุ์พืชให้คงอยู่ไว้อย่างยั่งยืนต่อไป

ปราจีนบุรี ปลูกคึ่นฉ่ายแบบไฮโดรโปนิกส์ขายวันตรุษจีน

ปราจีนบุรี ปลูกคึ่นฉ่ายแบบไฮโดรโปนิกส์ขายวันตรุษจีน
ไอเดียร์เจ๋งปลูกคึ่นฉ่ายแบบไฮโดรโปนิกส์ สะดวก สะอาด ปลอดสารและสิ่งปนเปื้อน แถมโตเร็วได้ทั้งน้ำหนักได้ราคา
ใกล้วันตรุษจีน

เหมือนเป็นช่วงเวลาเงินเวลาทองเพื่อสร้างรายได้ ทำให้สวนผัก หรือฟาร์มผักหลายแห่งเร่งปลูกทำผลิตเพื่อส่งตลาดรับเทศกาลไหว้เจ้าวันตรุษจีน ที่ อาลิษา ฟาร์ม หมู่ 1 ต.โคกไทย อ.ศรีมโหสถ จ.ปราจีนบุรี บนเนื้อที่ 6 ไร่ ก็เป็นอีกแห่งที่มีผลผลิตผักสลัด มีทั้ง กรีนโอ๊ก เรดโอ๊ก กรีนพอร์ต หรือ บัตเตอร์เฮด รวมทั้งอื่นๆอีกมากมาย ก็ยังต้องวางแผนเร่งการปลูกให้ผลผลิตออกสู่ฤดูการสำคัญเช่นนี้ด้วยเหมือนกัน แต่ทั้งหมดทั้งมวลก็ดูว่าเหมือนจะกับอีกหลายที่ เพราะผักที่ว่าไม่น่าจะใช้ในเทศกาลไหว้เจ้า แต่ ที่อาลิษา ฟาร์ม ซึ่งเป็นฟาร์มแบบครอบครัวที่วันนี้ คุณศิวกร หรือ หนึ่ง ยศศรี ในฐานะลูกชายคนโตรับหน้าที่ดูแล ใช้ไอเดียร์จากการปลุกผักสลัด แบบไฮโดรโปนิกส์ คือปลูกในน้ำไม่ลงดิน มาประยุคก์ใช้ปลูก คึ่นฉ่าย หรือ ตั๊งโอ๋ แทนการปลูกแบบลงดินแบบเดิม ซึ่งทาง คุณ หนึ่งบอกว่า นอกจากจะสามารถควบคุมเรื่องสารปนเปื้อน และแมลงแล้ว ยังทำให้ลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิตมากกว่าเดิม คุณหนึ่งบอกว่า การปลูกลงดินแบบเก่าและใช้ปู่ยคอกแต่การปลูกแบบไฮโดร โปนิกส์ ใช้ปุ๋ยน้ำให้ทางรากจึงทำให้ผักสะอาดไม่มีสารเคมีตกค้าง เมื่อได้กำหนดเวลาตัดช่วงนั้นผักก็จะทำการย่อยสลายปุ๋ยที่ดูดซึมเข้าไปจนหมดทำให้รับประทานได้อย่างปลอดภัย ไม่มีสารอันตรายหรือหนอนพยาติใดๆเหมือนปลูกกับดินซึ่งต้องพึ่งปุ๋ยคอกส่วนน้ำที่ใช้ปลูกแล้วก็จะรวบรวมนำไปรดผักที่ปลูกกับดินต่อไปจะไม่มีการนำมาใช้รอบสองรอบสาม คุณหนึ่งยังยืนยันว่า ที่ฟาร์ม อาลิษา เน้นเรื่องความสะอาดและปลอดภัยสำหรับผู้บริโภค ยิ่งในช่วงเทศกาลตรุษจีนด้วยแล้วทางฟาร์มให้ความสำคัญมากที่สุด

ส่วนเรื่องราคาของผักชนิดต่างๆ ทั้งผักสลัด หรือผักคึ่นฉ่าย หรือกุ๊ยช่าย ทางฟาร์มยังคงขายส่งในราคาเดิม เพราะคำนึงถึงความเดือดร้อนที่ทุกคนประสพความเดือดร้อนในเรื่องของพิษโควิด ที่ทำให้เศรษฐกิจแย่จึงยังคงขายส่งในราคาเดิม ผักสลัดทุกชนิดราคา 80 บาท ต่อกิโลกรัม ส่วนคึ่นฉ่ายและกุ๊ยช่าย 40 – 60 บาทต่อกิโลกรัม ใครที่สนใจจะซื้อผักไฮโดรโปนิกส์ หรือสนใจอยากลองปลูกคึ่นฉ่ายในน้ำแบบไร้ดินลองติดต่อพูดคุยกับคุณ ศิวกร หรือ หนึ่ง ยศศรี ได้ที่ 088 – 1954380 เผื่อจะได้ไอเดียร์ใหม่ๆจาก คุณหนึ่งไปลองใช้

เฉลิมชัย”เผยส่งออกผลไม้สูงสุดเป็นประวัติการณ์เฉพาะทุเรียนทะลุแสนล้าน เผยปีนี้ผลผลิตเพิ่มกว่า5แสนตัน

“เฉลิมชัย”เผยส่งออกผลไม้สูงสุดเป็นประวัติการณ์เฉพาะทุเรียนทะลุแสนล้าน
เผยปีนี้ผลผลิตเพิ่มกว่า5แสนตัน มอบ“อลงกรณ์”รับผิดชอบชุดเฉพาะกิจผนึกทีมผลไม้ภาคตะวันออกรับมือฤดูผลไม้ล่วงหน้า พร้อมลุยหนองคายเร่งรถไฟจีน-ลาวขนสินค้าเกษตร27ม.ค.นี้

ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารจัดการผลไม้(Fruit Board)กล่าววันนี้(26ม.ค)ถึงผลดำเนินงานบริหารจัดการผลไม้ปี2564และปี2565ว่า ในปี 2564 สามารถส่งออกผลไม้สูงสุดเป็นประวัติการณ์เฉพาะทุเรียนขายทะลุหนึ่งแสนล้านบาทเป็นครั้งแรกแม้เผชิญปัญหาการขนส่งโลจิสติกส์จากค่าระวางที่สูงขึ้น การขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์และการปิดด่านหลายครั้งจากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด19 ความสำเร็จดังกล่าวมาจากความร่วมมือของทุกภาคส่วนทั้งชาวสวนผลไม้ ผู้ประกอบการภาคเอกชนและภาครัฐที่ร่วมกันฝ่าฟันอุปสรรคในปีที่ผ่านมาและสามารถสร้างรายได้ให้ประเทศชาติจากการส่งออกทำสถิตินิวไฮโดย11เดือน(ม.ค.-พ.ย.)ของปี 2564ส่งออกผลไม้7ชนิดได้แก่ ทุเรียน มังคุด เงาะ ลองกอง ลำไย ลิ้นจี่และมะม่วงจำนวน1,992,751ตันคิดเป็นมูลค่า 165,624ล้านบาทเพิ่มขึ้น 40.75% เทียบกับปี 2563ที่ส่งออก1,718,228ตันมูลค่า 117,673ล้านบาท สำหรับทุเรียนส่งออก 903,700ตัน คิดเป็นปริมาณเพิ่มขึ้น38.29% คิดเป็นมูลค่า115,459ล้านบาทเติบโต59.11%เทียบกับปี2563ส่งออก653,476ตันมูลค่า72,566ล้านบาท โดยฤดูกาลผลิตปี2565จะมีผลผลิตออกมา5,200,009ตันเพิ่ม11.39%หรือเพิ่มกว่า5แสนตันเทียบกับปี2563ที่มีปริมาณ4,668,435ตันซึ่งเป็นตัวเลขจากกรมศุลกากร

ดร.เฉลิมชัยกล่าวต่อไปว่า เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือผลไม้ที่จะเริ่มต้นฤดูในเดือนมีนาคมที่จะถึงนี้จึงมอบนโยบายให้ฟรุ้ทบอร์ดกำหนดมาตรการล่วงหน้าโดยมอบหมายนายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรงเกษตรและสหกรณ์เป็นประธานคณะทำงานจัดทำแผนการแก้ไขปัญหาผลไม้เศรษฐกิจล่วงหน้าทั้งระบบ
ทางด้านนายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรงเกษตรและสหกรณ์ในฐานะประธานคณะทำงานจัดทำแผนการแก้ไขปัญหาผลไม้เศรษฐกิจล่วงหน้าทั้งระบบกล่าวว่า คณะทำงานฯได้กำหนด5มาตรการ21โครงการสำหรับบริหารผลไม้ในภาวะวิกฤติเสร็จเรียบร้อยแล้วโดยร่วมมือกับทุกภาคส่วนในการจัดทำแผนและโครงการต่างๆ
และเมื่อวันเสาร์ที่ 23 มกราคมที่ผ่านมาได้จัดการประชุมทางไกลกับสมาคมทุเรียนไทย ตัวแทนแปลงใหญ่ทุเรียนจังหวัดระยอง สมาพันธ์ชาวสวนทุเรียน สมาคมผู้ผลิตทุเรียนไทย สถาบันทุเรียนไทย หอการค้าจังหวัดจันทบุรี สมาคมการค้าผลไม้ยุคใหม่ ตัวแทนเกษตรกรและผู้ประกอบการภาคตะวันออก นายชรัตน์ เนรัญชรและนายยุคล ชนะวัฒน์ปัญญา คณะทำงานที่ปรึกษารัฐมนตรีเกษตรฯ. หน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่น อบจ.ระยอง สมาพันธ์ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ สำนักงานวิจัยและพัฒนาการการเกษตรเขตที่6 อธิบดีกรมวิขาการเกษตร เกษตรและสหกรณ์จังหวัดระยอง เกษตรและสหกรณ์จังหวัดจันทบุรี เกษตรและสหกรณ์จังหวัดตราด หน่วยงานEECและหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เพื่อรับฟังความคิดเห็น และข้อเสนอแนะเพิ่มเติมรองรับผลไม้ภาคตะวันออกโดยมีข้อเสนอแนะที่น่าสนใจและเป็นประโยชน์อย่างมาก เช่นข้อเสนอให้เร่งจัดทำมาตรฐานzero covid ทุเรียนที่มีงานวิจัยรองรับโดยกำหนดหน่วยงานที่รับผิดชอบที่ชัดเจนและสื่อสารกับจีนเพื่อสร้างความมั่นใจกับจีนและประเทศลูกค้าอื่นๆ การใช้ระบบตรวจสอบย้อนกลับ(Traceability)

การหารือกับจีนในการขนส่งบนเส้นทางรถไฟจีน-ลาวโดยการปิดตู้ที่ประเทศลาว และ ส่งไปคุนหมิงเลยโดยไม่ต้องแวะตรวจที่ด่านโมฮ่านเพื่อให้สามารถส่งทุเรียนและผลไม้เศรษฐกิจอื่นๆทางรางได้ตั้งแต่เดือน มีนาคมปีนี้ ตลอดจนข้อเสนอให้ประชุมหารือกับประเทศจีน ลาวและเวียดนามเพื่อตกลงมาตรการร่วมกันเรื่อง protocol ในการเปิด-ปิดด่านชายแดนต่างๆรวมทั้งข้อเสนอให้ด่านมีGreen Lane สำหรับผลไม้ไทยเป็นการเฉพาะรวมทั้งปัญหาการทำGAPที่ชาวสวนต้องจ่ายมากขึ้นว่าจะมีแนวทางช่วยเหลืออย่างไรเมื่อใดรวมทั้งข้อพิจารณาเรื่องการเยียวยาชาวสวนลำไยในฤดูกาลที่ผ่านมา
นายอลงกรณ์กล่าวว่าได้รายงานให้รัฐมนตรีเกษตรฯ.ในฐานะประธานฟรุ้ทบอร์ดทราบถึงข้อเสนอดังกล่าวเพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไปโดยเร็ว นอกจากนี้ตนจะนำคณะเดินทางไปหนองคายและอุดรธานีเพื่อหารือกับผู้ประกอบการ3ประเทศไทย-จีน-ลาวเรื่องการขนส่งสินค้าเกษตรของไทยบนเส้นทางรถไฟจีน-ลาวในวันที่27มกราคมนี้
สำหรับความคืบหน้าในเรื่องGMP นายชลธี นุ่มหนู ผู้อำนวยการ สวพ.6 ได้รายงานในที่ประชุมว่าปัจจุบันได้มีการอบรม มาตรฐาน GMP plus ให้กับล้งไปแล้วกว่า 400 แห่ง และ ดำเนินการป้องกันปัญหาทุเรียนอ่อนอย่างจริงจังเพื่อยกระดับคุณภาพของทุเรียนในปีนี้.

กิตติ พรดวงจันทร์สุโขทัย0821632939

Social Media Auto Publish Powered By : XYZScripts.com