google.com, pub-2709829493138336, DIRECT, f08c47fec0942fa0

กาฬสินธุ์ จับไทม์ไลน์ฟาร์มขี้หมูเหม็น เหตุเอกชนพูดไม่หมดทำชาวแบกรับหนี้สินเพิ่ม

ธุรกิจเลี้ยงหมูเงินล้านอำพราง สุดท้ายกลายเป็นเลี้ยงหมูขี้เหม็นกระทบชุมชน ชาวบ้านระบุนายทุน “พูดไม่หมด” ล่อใจด้วยโครงการสวยหรูหยิบเงินล้าน แต่เอาเข้าจริงทำชาวบ้านชอกช้ำ แบกรับภาระหนี้สินคนเลี้ยงหมูรายละ 6-8 ล้านบาท เรียกร้องเอกชนร่วมมือช่วยเหลือ ด้วยหลักเมตตาธรรมค้ำจุนโลก เห็นในเกษตรเลี้ยงหมูคนจน อย่าปล่อยให้รับภาระหนักฝ่ายเดียว

จากกรณีชาวบ้านใน ต.สหัสขันธ์ และต.นามะเขือ อ.สหัสขันธ์ จ.กาฬสินธุ์ ได้รับความเดือดร้อนสาหัส จากกลิ่นเหม็นของขี้หมู ที่โชยออกมาจากฟาร์มเลี้ยงหมูเอกชน 16 ฟาร์ม โดยมีผลกระทบจากมลภาวะเป็นพิษทางอากาศ ส่งผลให้สุขภาพจิตเสีย ปวดหัวปวดประสาทและเจ็บป่วยด้วยโรคทางลมหายใจ เรียกร้องหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรีบแก้ไข ล่าสุดล่ารายชื่อ และร้องทุกข์กล่าวโทษเอกชนและผู้เลี้ยงหมู ให้ตำรวจดำเนินคดีตามกฎหมาย ขณะที่นายอำเภอสหัสขันธ์เรียกทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุมหาทางออก เดทไลน์แก้ปัญหาระยะเร่งด่วนภายใน 2 สัปดาห์ และแก้ปัญหาทั้งระบบภายใน 2 เดือน ตามข่าวที่เสนอแล้วนั้น

ล่าสุดวันที่ 5 มิถุนายน 2566 นายสุทิน กาญจนรัช ปศุสัตว์ จ.กาฬสินธุ์ ได้ชี้แจงปัญหาที่เกิดขึ้น รวมทั้งความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหากลิ่นเหม็นจากฟาร์มหมู ว่าก่อนที่เกษตรกรหรือผู้ประกอบการเลี้ยงหมู จะนำหมูเข้ามาเลี้ยงนั้น ทราบว่าทางท้องถิ่นโดย อบต.สหัสขันธ์ได้ออกใบอนุญาตให้ทำการเลี้ยงได้ ในขณะที่บริษัทเอกชนที่เข้ามาส่งเสริมเลี้ยงหมู ก็ได้รับรองมาตรฐานของโครงสร้างและระบบในฟาร์มเป็นที่เรียบร้อย ทางปศุสัตว์จึงได้อนุญาตให้นำหมูเข้ามาเลี้ยง ซึ่งเป็นหมูของบริษัทเอกชนรายดังกล่าวเอง โดยมีการทำสัญญากับเกษตรกรผู้เลี้ยงหมู ส่วนปัญหาฟาร์มขี้หมูเหม็นนั้น จากการตรวจสอบร่วมกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง พบว่ามีสาเหตุจากการบริหารจัดการในฟาร์มไม่ดีพอ

นายสุทินกล่าวอีกว่า สาเหตุดังกล่าว จากการสอบถามพบว่าเกษตรกรส่วนใหญ่ ยังขาดประสบการณ์ในการเลี้ยงหมู ขณะที่การบริหารจัดการในฟาร์ม หรือการจัดการในคอกหมูไม่สมบูรณ์แบบ เช่น การเก็บกวาดมูลหมู ให้จัดเก็บเช้า-เย็น ล้างด้วยน้ำสะอาด รวมทั้งใช้สารอินทรีย์ดับกลิ่นวันละ 3-4 ครั้ง แต่เกษตรกรไม่ได้ปฏิบัติตามนั้น จึงเกิดเป็นปัญหาดังกล่าว อย่างไรก็ตาม การให้อนุญาตเลี้ยงหมู ทั้งส่วนของท้องถิ่นและปศุสัตว์ เป็นการให้อนุญาตก่อนที่ปัญหาจะเกิด ซึ่งมีสาเหตุจากการบริหารจัดการและการกำกับดูแลของเอกชนที่เข้ามาส่งเสริม

นายสุทินกล่าวเพิ่มเติมว่า หลังจากเกิดปัญหาและนำมาสู่ขั้นตอนการร่วมแก้ไขปัญหาของทุกภาคส่วน ซึ่งมีการลงพื้นที่ติดตามผลทุกวัน โดยเป็นการแก้ปัญหาระยะเร่งด่วน คือติดตั้งม่านน้ำเพื่อดูดซับกลิ่นให้ครบทุกฟาร์ม และให้แล้วเสร็จภายใน 2 สัปดาห์ พบว่าขณะนี้การแก้ไขปัญหามีความคืบหน้าประมาณ 80% ขณะที่ในส่วนของการตัดตั้งระบบบำบัดน้ำเสียให้มีคุณภาพ ก็จะได้ดำเนินการในลำดับต่อไป โดยมีกรอบดำเนินการทำงานไม่เกิน 2 เดือนตามมติในที่ประชุมเมื่อวันที่ 23 พ.ค.66 ที่ผ่านมา สำหรับการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ อยู่ระหว่างประสานกับเอกชน ที่เข้ามาส่งเสริมให้เกษตรกรเลี้ยงหมู
ด้านนางดอกไม้ แก้วสีทา หนึ่งในเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูบ้านถ้ำปลา ต.สหัสขันธ์ อ.สหัสขันธ์ จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า ก่อนที่จะตัดสินใจทำฟาร์มเลี้ยงหมูประมาณ 1,400 ตัวนั้น มีตัวแทนของบริษัทเอกชนรายหนึ่ง ซึ่งมีชื่อเสียงระดับประเทศ มาชักชวนชาวบ้านเลี้ยงหมู ซึ่งจะรายได้ดี มีกำไรกว่าทำการเกษตรปลูกมันปลูกอ้อยและยางพารา โดยจะเป็นฝ่ายดำเนินการด้านแหล่งเงินทุนกับ ธกส. รวมทั้งโครงสร้างฟาร์ม และรับซื้อผลผลิตให้ ทั้งนี้ หลังจากตัดสินใจเข้าร่วมโครงการ ได้มีการทำสัญญา เมื่อวันที่ 1 เม.ย.66 สิ้นสุดสัญญา 31 มี.ค.68 โดยชาวบ้านในฐานะรับจ้างเลี้ยง

นางดอกไม้กล่าวอีกว่า จากคำชักชวนของตัวแทนบริษัทดังกล่าว บอกแต่เรื่องผลประโยชน์เป็นเงินแสนเงินล้านจากการจับหมูจำหน่าย แต่ไม่มีความชัดเจนในเรื่องผลกระทบที่จะเกิดขึ้น อย่างที่เกิดปัญหาขี้หมูเหม็น และเป็นสาเหตุให้เพื่อนบ้านร้องเรียน นอกจากนี้ ทั้งยังทำให้คนเลี้ยงหมูต้องขอสินเชื่อ ธกส.เพิ่มสูงขึ้น จากเดิมที่กู้มาลงทุนครั้งแรก 6.4 ล้านบาท ก็ต้องกู้เพิ่มเพื่อทำระบบแก้ไขปัญหาขี้หมูเหม็นอีก 4 แสนบาท รวมเป็น 6.8 ล้านบาท ปัญหาที่เกิดขึ้นและภาระที่หนี้สินที่เพิ่มขึ้น เหมือนเป็นปัญหาและหนี้สินที่เกิดขึ้นโดยไม่รู้ตัว และโดยไม่ได้เจตนา เพราะตัวแทนบริษัทที่มาชักชวนพูดไม่หมด ชาวบ้านที่หลวมตัวเลี้ยงหมูจึงไม่ต่างกับตกหลุมพราง

“จึงอยากให้ทางบริษัทดังกล่าว เห็นอกเห็นใจเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูคนจน อย่าปล่อยให้รับภาระที่หนักอึ้งเพียงฝ่ายเดียว เพราะคิดว่าอย่างไรเสีย ทางบริษัทก็ต้องคาดการณ์ออกว่าจะเกิดปัญหาอะไรบ้างในระหว่างการเลี้ยงหมู แล้วทำไมไม่เร่งรีบป้องกันแต่ทีแรก ดังนั้น เมื่อปัญหาเกิดขึ้นแล้ว จึงอยากให้ทางบริษัทดังกล่าว เข้ามาร่วมมือช่วยเหลือตามหลักเมตตาธรรมค้ำจุนโลก อย่าปล่อยให้เกษตรกรผู้เลี้ยงหมู รับภาระหนี้สินเพิ่มขึ้นเพียงฝ่ายเดียวเลย” นางดอกไม้กล่าวในที่สุด

Social Media Auto Publish Powered By : XYZScripts.com