google.com, pub-2709829493138336, DIRECT, f08c47fec0942fa0

คณะผู้แทนรัฐสภาไทยเข้าร่วมการประชุมสมัชชาสหภาพรัฐสภา ครั้งที่ 146 ณ กรุงมานามา ราชอาณาจักรบาห์เรน เป็นวันที่ห้า

วันที่ 15 มีนาคม 2566 คณะผู้แทนรัฐสภาไทย นำโดย นางพิกุลแก้ว ไกรฤกษ์ สมาชิกวุฒิสภา ในฐานะรองประธานสหภาพรัฐสภา (สัดส่วนกลุ่มเอเชีย-แปซิฟิก) พร้อมด้วย นายเกียรติ สิทธีอมร สมาชิกสภาผู้แทนราษฏร ศาสตราจารย์เกียรติคุณไกรสิทธิ์ ตันติศิรินทร์ สมาชิกวุฒิสภา และนายอนุศาสน์ สุวรรณมงคล สมาชิกวุฒิสภา เข้าร่วมการประชุมสมัชชาสหภาพรัฐสภา ครั้งที่ 146 และการประชุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง (The 146th IPU Assembly and related meetings) ระหว่างวันที่ 11-15 มีนาคม 2566 ณ ศูนย์การประชุม Exhibition World Bahrain กรุงมานามา ราชอาณาจักรบาห์เรน เป็นวันที่ห้า ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการประชุม โดยสรุปภารกิจของคณะผู้แทนรัฐสภาไทย ได้ดังนี้
การประชุมคณะมนตรีบริหาร (Governing Council) สมัยที่ 211 ในวาระที่สอง ในช่วงเช้า ซึ่งที่ประชุมได้พิจารณาเรื่องต่าง ๆ ในระเบียบวาระที่ค้างการพิจารณาต่อเนื่องจากวาระที่หนึ่งเมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2566 ได้แก่ รับทราบรายงานสถานะทางการเงินปัจจุบันของสหภาพรัฐสภา ที่ยังคงอยู่ในสถานะมั่นคง เนื่องจากได้รับเงินบริจาคสมทบโดยสมัครใจจากประเทศสมาชิกบางประเทศ และองค์การหุ้นส่วนต่าง ๆ แม้ว่าประเทศสมาชิกจำนวนหนึ่งยังคงค้างชำระค่าบำรุงสมาชิกประจำปีติดต่อกันก็ตาม ทั้งนี้ เนื่องจากรายงานของผู้ตรวจสอบภายนอก (external auditors) ยังคงอยู่ระหว่างการจัดทำ จึงขอยกไปนำเสนอในการประชุมคณะมนตรีบริหารครั้งถัดไป จากนั้น รับทราบการรายงานสถานการณ์ของรัฐสภาสมาชิกบางประเทศ (Situation of certain parliaments) ซึ่งอยู่ระหว่างไม่มีรัฐสภาทำหน้าที่อันเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองภายในประเทศที่ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญในวิถีประชาธิปไตย หรือรัฐสภาไม่สามารถทำหน้าที่ได้ตามปกติ ตามที่คณะกรรมการบริหาร IPU เสนอ รวม 20 ประเทศ พร้อมทั้งรับทราบสถานะความคืบหน้าของเพลงประจำสหภาพรัฐสภา (IPU Anthem) และรับทราบพัฒนาการของโครงการนำร่องสำนักงานระดับภูมิภาคของ IPU ที่อุรุกวัย ในภูมิภาคละตินอเมริกาและแคริบเบียน และอียิปต์ ซึ่งมีข้อสรุปให้เป็นสำนักงานระยะทดลองประจำภูมิภาคอาหรับ

จากนั้น ที่ประชุมคณะมนตรีบริหารฯ ได้พิจารณาคำวินิจฉัย (decisions) ของคณะกรรมการว่าด้วยสิทธิมนุษยชนของสมาชิกรัฐสภา (Committee on the Human Rights of Parliamentarians) ต่อกรณีข้อร้องเรียนการละเมิดสิทธิมนุษยชนของสมาชิกรัฐสภาจากประเทศสมาชิกทั่วโลก โดยในครั้งนี้มีกรณีที่คณะกรรมการฯ ได้เสนอเข้าสู่ที่ประชุม ทั้งหมด 14 กรณี จาก 10 ประเทศ

ในวาระดังกล่าว นายเกียรติ สิทธีอมร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะผู้แทนรัฐสภาไทย ได้ร่วมอภิปรายต่อที่ประชุม โดยตั้งคำถามไปยังประธานคณะกรรมาธิการว่าด้วยสิทธิมนุษยชนของสมาชิกรัฐสภา ว่าเหตุใดในรายงานต่อที่ประชุมคณะมนตรีบริหารฯ จึงไม่ปรากฎกรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชน 2 กรณีสำคัญ ของประเทศในภูมิภาคอาเซียนเพื่อนบ้านของไทย ได้แก่ กรณีสมาชิกรัฐสภา 62 คนของเมียนมา และกรณี Ms. Leila de Lima สมาชิกวุฒิสภาของฟิลิปปินส์ ซึ่งทั้งสองกรณีดังกล่าวได้ถูกหยิบยกขึ้นเป็นกรณีสำคัญในกิจกรรมการเสวนาพิเศษที่จัดโดยคณะกรรมาธิการว่าด้วยสิทธิมนุษยชนของสมาชิกรัฐสภาเมื่อวันที่ 14 มี.ค. 66 โดยในกรณีของเมียนมา ที่มีการประหารชีวิตนักโทษการเมือง 4 คน เมื่อปีที่แล้ว โดยหนึ่งในนั้นเป็นอดีตสมาชิกรัฐสภา คือ Mr. Phyo Zeyar Thaw ซึ่งเป็นเพื่อนของตน และการประหารชีวิตนักโทษการเมืองเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ทุกกรณี และเรียกร้องให้ IPU ยกระดับดำเนินการในการกดดันรัฐบาลเมียนมาให้ยุติการข่มเหงรังแกสมาชิกรัฐสภาฝ่ายตรงข้ามดังกล่าว และเร่งมุ่งหน้าสู่จัดการเลือกตั้งตามวิถีประชาธิปไตยโดยเร็ว รวมถึงเรียกร้องให้ประเทศสมาชิก IPU ร่วมให้การสนับสนุนด้านมนุษยธรรมแก่ประเทศไทยที่รับดูแลผู้ลี้ภัยจากเมียนมาจำนวนมากที่ข้ามพรมแดนมาแสวงหาที่ปลอดภัยในประเทศไทย

ส่วนกรณีที่สองที่ Ms. Leila de Lima สมาชิกวุฒิสภาของฟิลิปปินส์ถูกคุมขังก่อนการพิจารณาคดี เป็นเวลานานถึง 6 ปี และจนถึงขณะนี้ยังไม่มีคดีใดที่มีหลักฐานเพียงพอที่จะเอาผิดกับ Ms. De Lima ตามที่ถูกกล่าวหาได้แม้แต่คดีเดียว โดยที่มีรายงานว่าพยานหลายคนซึ่งถูกบังคับขู่เข็ญในตอนแรกได้ถอนคำให้การหรือเปลี่ยนคำให้การในภายหลัง ดังนั้น เมื่ออำนาจรัฐในฟิลิปปินส์ได้เปลี่ยนมือจึงเป็นโอกาสอันดีที่ IPU ยกระดับการเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวสมาชิกวุฒิสภารายดังกล่าวของฟิลิปปินส์โดยทันที ต่อประเด็นดังกล่าวที่คณะผู้แทนรัฐสภาไทยได้หยิบยกขึ้นนั้น เลขาธิการสหภาพรัฐสภาได้ชี้แจงต่อที่ประชุมว่าในการรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของคณะกรรมาธิการฯ ต่อที่ประชุมคณะมนตรีบริหารในแต่ละครั้ง จะหยิบเฉพาะกรณีใหม่ หรือกรณีที่มีพัฒนาการความคืบหน้า โดยไม่สามารถหยิบทุกกรณีที่อยู่สารบบของคณะกรรมาธิการฯ ที่มีปริมาณมาก เข้าสู่ที่ประชุมได้ทั้งหมด สำหรับกรณีทั้งสองที่คณะผู้แทนไทยหยิบยกขึ้นมานั้น ได้ผ่านการพิจารณาโดยคณะกรรมาธิการฯ ในช่วงปลายเดือนมกราคม 2566 และได้เผยแพร่รายงานดังกล่าวก่อนหน้านี้แล้ว อย่างไรก็ดี IPU จะติดตามกรณีดังกล่าวอย่างใกล้ชิดและนำพัฒนาการมารายงานต่อไป ทั้งนี้ IPU ยินดีที่จะรับข้อมูลเพิ่มเติมที่จะเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณากรณีทั้งสอง
ต่อมาในช่วงบ่าย ที่ประชุมได้รับฟังรายงานสรุปผลการจัดกิจกรรมการประชุมเฉพาะด้าน (specialized meetins) รวม 19 รายการ ที่ IPU จัดขึ้นในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา ทั้งในรูปแบบปกติและในรูปแบบผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ พร้อมทั้ง เห็นชอบข้อเสนอการปรับปรุงอำนาจหน้าที่ และวิธีการทำงานของคณะกรรมาธิการสามัญสหภาพรัฐสภาว่าด้วยกิจการสหประชาชาติ ที่เสนอโดยคณะกรรมาธิการฯ จากนั้น รับฟังการรายงานจากคณะกรรมการเฉพาะด้าน (specialized bodies) ซึ่งเป็นหน่วยที่อยู่ภายใต้อาณัติของคณะมนตรีบริหารฯ รวม 8 คณะ รวมถึง คณะทำงานเฉพาะกิจว่าด้วยการแก้ไขปัญหาวิกฤตในยูเครนด้วยสันติวิธี ตลอดจน การเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาที่เสนอชื่อโดยประเทศสมาชิกเพื่อดำรงตำแหน่งในคณะกรรมการชุดต่างๆ ใน IPU ที่ว่างลง ตามสัดส่วนของกลุ่มภูมิรัฐศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรรมการบริหารสหภาพรัฐสภา 2 ตำแหน่งจากสวีเดน (กลุ่ม Twelve Plus) และ DR Congo (กลุ่มแอฟริกา) รวมถึง ตำแหน่งที่ว่างลงอีก 16 ตำแหน่ง ในคณะกรรมการที่อยู่ภายใต้อาณัติของคณะมนตรีบริหารฯ รวม 5 คณะ ตลอดจน ได้เห็นชอบการปรับปรุงแก้ไขข้อบังคับของ IPU ว่าด้วยรางวัลเครเมอร์-พาซี (Cremer-Passy Prize: MP of the Year Award) หรือรางวัลสมาชิกรัฐสภาแห่งปีของ IPU ที่เสนอโดยคณะกรรมการบริหารฯ โดยในปี 2566 นี้ IPU จะพิจารณามอบรางวัลเกียรติยศดังกล่าวให้แก่สมาชิกรัฐสภาที่มีผลโดดเด่นในด้าน climate change

ในช่วงเย็น ที่ประชุมเต็มคณะได้เปลี่ยนเข้าสู่การพิจารณาวาระของสมัชชา (Assembly) ซึ่งที่ประชุมได้รับรองแถลงการณ์มานามา (Manama declaration) ซึ่งเป็นเอกสารผลลัพธ์ของการอภิปรายทั่วไปของที่ประชุมสมัชชา ที่เน้นย้ำถึงความมุ่งมั่นของรัฐสภาประเทศสมาชิกในการส่งเสริมหลักการอยู่ด้วยกันอย่างสันติ ภายใต้การยอมรับและเคารพความแตกต่าง และร่วมกันส่งเสริมความหลากหลายทางด้านศาสนาและวัฒนธรรม รวมถึงได้รับฟังรายงานจากคณะกรรมาธิการสามัญของ IPU ที่เกี่ยวข้อง โดยที่ประชุมได้มีมติโดยฉันทานุมัติรับรองร่างข้อมติฉบับที่เสนอโดยคณะกรรมาธิการสามัญสหภาพรัฐสภาว่าด้วยสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ ในเรื่องอาชญากรรมไซเบอร์ และฉบับที่เสนอโดยคณะกรรมาธิการสามัญสหภาพรัฐสภาว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน ในเรื่องบทบาทของป่าในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ตลอดจน มีมติรับรองหัวข้อเรื่องซึ่งจะจัดทำเป็นร่างข้อมติในอนาคตของคณะกรรมาธิการสามัญทั้งสองคณะดังกล่าว ในหัวข้อเกี่ยวกับ ผลกระทบของอาวุธอัตโนมัติที่ไร้คนควบคุมและปัญญาประดิษฐ์ และการส่งเสริมพลังงานสีเขียวที่เข้าถึงได้ ตามลำดับเพื่อรับรองในห้วงการประชุมสมัชชา ครั้งที่ 148 ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส พร้อมทั้งรับรองการแต่งตั้งผู้นำเสนอรายงานร่วม (co-rapporteurs) ที่เกี่ยวข้อง อีกด้วย

ก่อนพิธีปิดการประชุม ที่ประชุมได้รับชมคลิปวีดิทัศน์ประชาสัมพันธ์การเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสมัชชา ครั้งที่ 147 ณ กรุงลูอันดา สาธารณรัฐแองโกลา ในเดือนตุลาคม 2566 และได้รับฟังคำกล่าวปิดการประชุมจากประธานกลุ่มภูมิรัฐศาสตร์ทั้ง 6 กลุ่ม ตามธรรมเนียมปฏิบัติของ IPU ในตอนท้าย ที่ประชุมได้รับฟังถ้อยแถลงปิดการประชุมของ Mr. Duarte Pacheco ประธานสหภาพรัฐสภา และ H.E. Mr. Ahmed bin Salman Al-Musallam ประธานสภาผู้แทนราษฎรบาห์เรน ก่อนที่ประธานสภาผู้แทนราษฎรบาห์เรนในฐานะประธานสมัชชาฯ จะปิดการประชุมสมัชชาสหภาพรัฐสภา ครั้งที่ 146 ลงอย่างเป็นทางการในเวลา 17.30 นาฬิกา

อนึ่ง หลังจากเสร็จสิ้นพิธีปิดการประชุม คณะผู้แทนรัฐสภาไทยได้แสดงความยินดีกับประธานสภาผู้แทนราษฎรบาห์เรนในฐานะประเทศเจ้าภาพและประธานสหภาพรัฐสภา ที่ประสบความสำเร็จในการร่วมกันเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสมัชชาในครั้งนี้ ได้อย่างยิ่งใหญ่เป็นที่น่าประทับใจ

ภาพ/ข่าว ฤทธิรณ ปัญญากาบ ทีมข่าวไทยเกอร์นิวส์ รัฐสภา รายงาน

Social Media Auto Publish Powered By : XYZScripts.com