กมธ.คมนาคม วุฒิสภา รับหนังสือขอความเป็นธรรมจากตัวแทนกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบการเวนคืนที่ดินในการสร้างทางหลวงฯ

กมธ.คมนาคม วุฒิสภา รับหนังสือขอความเป็นธรรมจากตัวแทนกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบการเวนคืนที่ดินในการสร้างทางหลวงฯ

กมธ.คมนาคม วุฒิสภา รับหนังสือขอความเป็นธรรมจากตัวแทนกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบการเวนคืนที่ดินในการสร้างทางหลวงฯ

.
วันที่ 22 มีนาคม 2566 เวลา 13.00 นาฬิกา ณ บริเวณจุดแถลงข่าว ชั้น 1 อาคารรัฐสภา (ฝั่งวุฒิสภา) คณะกรรมาธิการการคมนาคม วุฒิสภา นำโดย พลเอก ยอดยุทธ บุญญาธิการ ประธานคณะกรรมาธิการ พร้อมด้วย พลเอก วรพงษ์ สง่าเนตร สมาชิกวุฒิสภา รับหนังสือจาก นายเอนก อุบล ตัวแทนกลุ่มผู้เสียหายและผู้ได้รับผลกระทบจากการเวนคืนที่ดินบ้านตองเปรอะ ตำบลสามโคก อำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี กรณีไม่ได้รับความเป็นธรรมในการกำหนดราคาอสังหาริมทรัพย์เบื้องต้น และเงินค่าทดแทน เพื่อสร้างทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3214
.
นายเอนก อุบล กล่าวว่า ได้รับความไม่เป็นธรรมในการกำหนดราคาอสังหาริมทรัพย์และเงินค่าทดแทน เพื่อสร้างทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3214 ซึ่งราคาค่าที่ดินในเขตพื้นที่ โซนที่ 2 ตำบลสามโคก หน่วยที่ 6 ที่ดินจัดสรร (บ้านตองเปรอะ) นั้น มีราคาต่ำกว่าความเป็นจริง ไม่สามารถนำเงินที่ได้จากการเวนคืนไปจัดหาที่ดินแห่งใหม่ได้ ทำให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำเมื่อเทียบกับพื้นที่ใกล้เคียง ทั้งนี้ประชาชนในพื้นที่เห็นด้วยกับการสร้างทางหลวง แต่ขอความเป็นธรรมในการกำหนดราคาเวนคืนที่ดินให้เป็นไปอย่างเหมาะสมกับบริเวณพื้นที่ใกล้เคียง

.
ด้าน พลเอก ยอดยุทธ บุญญาธิการ ประธานคณะกรรมาธิการ กล่าวว่า จะรับเรื่องไว้พิจารณา และหาข้อเท็จจริง พร้อมทั้งเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมทางหลวง เทศบาลตำบลสามโคก และกรมที่ดิน รวมถึงประชาชนที่ได้รับผลกระทบเข้ามาประชุมชี้แจงทำความเข้าใจถึงเหตุผลในการกำหนดราคาที่ดิน และการปรับราคาเวนคืนที่ดินนั้นทำได้หรือไม่ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมต่อผู้ได้รับผลกระทบต่อไป

ภาพ/ข่าว ฤทธิรณ ปัญญากาบ ทีมข่าวไทยเกอร์นิวส์ รัฐสภา รายงาน

สว.พบประชาชน ภาคกลาง ลงพื้นที่ติดตามการพัฒนาส่งเสริมภาคการเกษตร และการดำเนินงานขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืน จังหวัดสิงห์บุรี

สว.พบประชาชน ภาคกลาง ลงพื้นที่ติดตามการพัฒนาส่งเสริมภาคการเกษตร และการดำเนินงานขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืน จังหวัดสิงห์บุรี

.
วันที่ 23 มีนาคม 2566 เวลา 09.30 นาฬิกา ณ หอประชุมอำเภอบางระจัน อำเภอบางระจัน จังหวัดสิงห์บุรี คณะกรรมการโครงการสมาชิกวุฒิสภาพบประชาชนในพื้นที่จังหวัดภาคกลาง นำโดย พลเอก สิงห์ศึก สิงห์ไพร รองประธานวุฒิสภา คนที่หนึ่ง ในฐานะประธานกรรมการโครงการสมาชิกวุฒิสภาพบประชาชน พร้อมด้วย นายปรีชา เดชพันธุ์ หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย และนายสุวิทย์ วิจิตรโสภา ผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี เขตตรวจราชการที่ 1 และนางสาวอุไร เล็กน้อย ผู้ตรวจราชการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ลงพื้นที่รับฟังความคิดเห็นจากประชาชนในพื้นที่จังหวัดสิงห์บุรี โดยมี นายสัมฤทธิ์ กองเงิน รองผู้ว่าราชการจังหวัดสิงห์บุรี ให้การต้อนรับ
.
คณะกรรมการฯ ได้รับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางการพัฒนาและส่งเสริมภาคการเกษตรของจังหวัดสิงห์บุรี และการดำเนินงานของศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (ศจพ.) ในพื้นที่จังหวัดสิงห์บุรี โดยมี นางอมราพร ชีพสมุทร์ เกษตรและสหกรณ์จังหวัดสิงห์บุรี นายปัทพงศ์ สารบรรณ์ เกษตรจังหวัดสิงห์บุรี และนายกิตติเชษฐ์ ทุ่งสะโร ผู้อำนวยการกลุ่มงานยุทธศาสตร์การพัฒนาชุมชน สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดสิงห์บุรี เป็นผู้ให้ข้อมูล โดยคณะสมาชิกวุฒิสภาให้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการส่งเสริมภาคการเกษตรว่านอกจากการฝึกอบรมเกษตรกรแล้วควรมีการติดตามผลว่าเกษตรกรที่ได้รับการอบรมได้มีการนำไปปฏิบัติใช้จริงหรือไม่ และประสบผลสำเร็จหรือมีปัญหาอุปสรรคอย่างไร เพื่อช่วยทำให้เครือข่ายเกษตรกรจังหวัดสิงห์บุรีมีความเข้มแข็ง ส่วนประเด็นการพัฒนาคนทุกช่วงวัยนั้น จังหวัดสิงห์บุรีมีประชากรสูงวัยจำนวนมาก ควรมีหน่วยงานที่เข้าไปดูแลผู้สูงวัย ต้องมีการบูรณาการร่งมกันในชุมชนโดยอาศัยความร่วมมือกับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล

.
นางบุษกร นาวีระ เครือข่ายผู้นำนักประชาธิปไตยจังหวัดสิงห์บุรี แสดงขอบคุณคณะสมาชิกวุฒิสภาที่ได้มาเยี่ยมเยียนและเห็นความสำคัญของพี่น้องชาวอำเภอบางระจัน ตลอดจนได้พบปะพูดคุยเพื่อจะได้รับทราบข้อเท็จจริงว่าเกษตรกรและประชาชนในพื้นที่ประสบปัญหาอะไรบ้าง ซึ่งคณะสมาชิกวุฒิสภาก็ได้ให้ข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ให้สามารถนำไปปฏิบัติได้จริง
.
ทั้งนี้ คณะสมาชิกวุฒิสภาจะนำข้อมูลข้อเสนอแนะต่าง ๆ ที่ได้รับจากการลงพื้นที่ไปสู่การดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจของวุฒิสภาต่อไป

ภาพ/ข่าว ฤทธิรณ ปัญญากาบ ทีมข่าวไทยเกอร์นิวส์ รัฐสภา รายงาน

วุฒิสภา ผนึกกำลังสื่อมวลชน ลงพื้นที่บ้านสันนาเม็ง ร่วมขับเคลื่อนชุมชนสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน

วุฒิสภา ผนึกกำลังสื่อมวลชน ลงพื้นที่บ้านสันนาเม็ง ร่วมขับเคลื่อนชุมชนสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน

.
วันที่ 21 มีนาคม 2566 เวลา 14.00 นาฬิกา ณ ที่ทำการกลุ่มวิสาหกิจชุมชนตำบลสันนาเม็ง อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ คณะกรรมการโครงการสมาชิกวุฒิสภาพบประชาชน นำโดย พลเอก สิงห์ศึก สิงห์ไพร รองประธานวุฒิสภา คนที่หนึ่ง ในฐานะประธานคณะกรรมการโครงการสมาชิกวุฒิสภาพบประชาชน พร้อมด้วย นายวรวิทย์ ชัยสวัสดิ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ นายอำเภอสันทราย ผู้นำท้องที่ ผู้นำท้องถิ่น ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งสื่อมวลชนในจังหวัดเชียงใหม่ ลงพื้นที่รับฟังผลการดำเนินงานของกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านสันนาเม็ง โดยมีนางแก้วพา ถวาย ประธานกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านสันนาเม็ง ให้การต้อนรับและบรรยายผลการดำเนินงาน
.
สำหรับกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านสันนาเม็ง ก่อตั้งเมื่อปี 2548 โดยนับเป็นกลุ่มแม่บ้านที่มีความโดดเด่นในด้านการแปรรูปผลิตภัณฑ์ขึ้นชื่อของชุมชน ให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์ชุมชนสร้างสรรค์ โดยความร่วมแรงร่วมใจของคนในชุมชน อาทิ เห็ดนางฟ้า น้ำพริก อาหารแปรรูป น้ำสมุนไพร และผ้าทอ ซึ่งถือเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มและความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจของชุมชนอย่างมั่นคง
.
โอกาสนี้ คณะกรรมการฯ และสื่อมวลชน ได้ร่วมแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นและแนวทางการแก้ไขปัญหาของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนในตำบลสันนาเม็ง ในประเด็นต่าง ๆ เช่น กระบวนการพัฒนาองค์ความรู้เพื่อเพิ่มคุณภาพและมูลค่าของผลิตภัณฑ์ การพัฒนาบรรจุภัณฑ์ การพัฒนาด้านสาธารณูปโภค การสร้างสื่อเพื่อการประชาสัมพันธ์ และการพัฒนาช่องทางการจำหน่ายผ่านตลาดออนไลน์ โดยได้รับความร่วมมือและการสนับสนุนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นอย่างดี ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการสร้างความเข้มแข็งให้กับกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านสันนาเม็ง โดยที่ผ่านมาคณะกรรมการฯ ได้ช่วยประสานงานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ปัญหาให้กับกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรแห่งนี้ อาทิ “โครงการสถานีพลังงานชุมชน เทศบาลตำบลสันนาเม็ง” สนับสนุนระบบอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์ และเตาชีวมวลประสิทธิภาพสูง (เตานึ่งเชื้อเห็ด) โดยคณะกรรมการบริหารงานจังหวัด แบบบูรณาการ (ก.บ.จ.) จังหวัดเชียงใหม่ ได้ให้ความเห็นชอบโครงการแล้ว และปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน

.
ทั้งนี้ การลงพื้นที่ของคณะกรรมการฯ ร่วมกับสื่อมวลชน จังหวัดเชียงใหม่ ถือเป็นครั้งแรกที่มีการประสานการทำงานร่วมกันอย่างบูรณาการ เพื่อนำไปสู่เป้าหมายในการพัฒนาประเทศชาติและประชาชน ตลอดจน เป็นการลงพื้นที่ติดตามผลสัมฤทธิ์การดำเนินโครงการฯ ครั้งที่ 2 ทำให้ประชาชน หน่วยงานภาครัฐ ภาคประชาชน มีขวัญกำลังใจ และมีแนวทางพัฒนาชุมชน ท้องถิ่นให้ก้าวหน้า ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และสอดคล้องกับสังคม เศรษฐกิจยุคใหม่ และการประสานการเรียนรู้แลกเปลี่ยนด้วยสัมพันธภาพอันดียิ่ง ระหว่างวุฒิสภาและสื่อมวลชน จังหวัดเชียงใหม่ ในโอกาสนี้ด้วย
.
ด้านนางกนกพร วัฒนประทีป เลขานุการวิสาหกิจชุมชนฯ ได้กล่าวว่า การลงพื้นที่ของสมาชิกวุฒิสภา ทำให้สมาชิกกลุ่มแม่บ้านฯ ได้รับข้อเสนอแนะใหม่ ๆ ที่สามารถนำไปต่อยอดได้ในหลาย ๆ ด้าน ทั้งด้านธุรกิจ เศรษฐกิจ การประกอบอาชีพ และได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานที่ทางสมาชิกวุฒิสภาได้ประสานงานให้กับกลุ่มแม่บ้าน ซึ่งจะทำให้กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านสันนาเม็ง ก้าวหน้าด้วยความมั่นคง และมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืนต่อไป

ภาพ/ข่าว ฤทธิรณ ปัญญากาบ ทีมข่าวไทยเกอร์นิวส์ รัฐสภา รายงาน

“บิ๊กตู่” หมอบกราบรับ พระราชทานแจกันดอกไม้ เนื่องในวันคล้ายวันเกิด 69 ปี ที่ทำเนียบรัฐบาล “พีระพันธุ์”ร่วม ก่อนประชุม ครม. รักษาการ นัดแรก หลังยุบสภา

“บิ๊กตู่” หมอบกราบรับ พระราชทานแจกันดอกไม้ เนื่องในวันคล้ายวันเกิด 69 ปี
ที่ทำเนียบรัฐบาล “พีระพันธุ์”ร่วม
ก่อนประชุม ครม. รักษาการ นัดแรก
หลังยุบสภา

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี พระราชทานแจกันดอกไม้ แก่ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เนื่องในวันคล้ายวันเกิดอายุครบ 69 ปี

วันที่ 21 มีนาคม 2566 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี พระราชทานแจกันดอกไม้ แก่ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว. กลาโหม เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันเกิดอายุครบ 69 ปี ณ ห้องสีงาช้าง ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล

ภาพ/ข่าว ฤทธิรณ ปัญญากาบ ทีมข่าวไทยเกอร์นิวส์ รัฐสภา รายงาน

รองประธานวุฒิสภา คนที่หนึ่ง พบปะผู้แทนสมาคม ชมรมสื่อมวลชนเชียงใหม่

รองประธานวุฒิสภา คนที่หนึ่ง พบปะผู้แทนสมาคม ชมรมสื่อมวลชนเชียงใหม่

วันที่ 20 มีนาคม 2566 เวลา 14.00 นาฬิกา ณ ห้องประชุมสำนักประชาสัมพันธ์ เขต 3 จังหวัดเชียงใหม่ คณะกรรมการประชาสัมพันธ์ วุฒิสภา นำโดย พลเอก สิงห์ศึก สิงห์ไพร รองประธานวุฒิสภา คนที่หนึ่ง ในฐานะประธานคณะกรรมการ พร้อมด้วย คณะกรรมการอำนวยการโครงสมาชิกวุฒิสภาพบประชาชน และคณะอนุกรรมการเผยแพร่ข้อมูลประชาสัมพันธ์ วุฒิสภา พบปะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้แทนสมาคม ชมรมสื่อมวลชนจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อนำเสนอภารกิจ หน้าที่ และผลงานของวุฒิสภา ซึ่งมีสื่อมวลชนทั้งภาครัฐและเอกชนเข้าร่วมกิจกรรมกว่า 30 คน

.
โดยได้สอบถามประเด็นปัญหาต่างๆที่เกี่ยวข้องกับบทบาท หน้าที่ และอำนาจของวุฒิสภา รวมถึงแนวทางความร่วมมือในการนำเสนอข้อมูลจากวุฒิสภาได้อย่างครบถ้วน ถูกต้อง และสื่อมวลชนที่ได้ร่วมพบปะพูดคุยกับคณะสมาชิกวุฒิสภาในวันนี้มีความยินดีที่ได้มาร่วมกิจกรรม ทำให้ได้ทราบถึงช่องทางการติดต่อสื่อสาร บทบาทหน้าที่และผลงานของวุฒิสภาที่ได้ทำหน้าที่เพื่อประชาชน และจะร่วมนำเสนอข่าวสารข้อมูลของวุฒิสภาสู่พี่น้องประชาชนต่อไป

ภาพ/ข่าว ฤทธิรณ ปัญญากาบ ทีมข่าวไทยเกอร์นิวส์ รัฐสภา รายงาน

คณะวุฒิสภา เข้าเฝ้า ฯ ถวายพระพรชัยมงคล เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันพระราชสมภพ วันที่ 2 เมษายน 2566

คณะวุฒิสภา เข้าเฝ้า ฯ ถวายพระพรชัยมงคล เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันพระราชสมภพ วันที่ 2 เมษายน 2566

.
วันจันทร์ที่ 20 มีนาคม 2566 เวลา 14.00 นาฬิกา ณ วังสระปทุม สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานพระวโรกาสให้ศาสตราจารย์พิเศษพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา นายศุภชัย สมเจริญ รองประธานวุฒิสภา

คนที่สอง ประธานคณะกรรมาธิการ และนางสาวนภาภรณ์ ใจสัจจะ เลขาธิการวุฒิสภา พร้อมด้วย ข้าราชการการเมือง ข้าราชการสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา เข้าเฝ้า ฯ ถวายพระพรชัยมงคล เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันพระราชสมภพ วันที่ 2 เมษายน 2566

ภาพ/ข่าว ฤทธิรณ ปัญญากาบ ทีมข่าวไทยเกอร์นิวส์ รัฐสภา รายงาน

คณะกรรมาธิการการศึกษา วุฒิสภา ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานด้านการพัฒนาการศึกษา

คณะกรรมาธิการการศึกษา วุฒิสภา ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานด้านการพัฒนาการศึกษา

วันที่ 21 มีนาคม 2566 เวลา 8.30 นาฬิกา ณ สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดอุบลราชธานี คณะกรรมาธิการการศึกษา วุฒิสภา นำโดย พลเอก ประสาท สุขเกษตร รองประธานคณะกรรมาธิการ คนที่สอง และประธานคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษา ติดตาม เสนอแนะและเร่งรัดการปฏิรูปประเทศ และการจัดทำและดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติด้านการศึกษา ลงพื้นที่ศึกษาดูงานด้านการศึกษา และประชุมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น รับฟังสภาพปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินงานในประเด็นการพัฒนาเด็กปฐมวัย การพัฒนาการจัดการเรียนการสอนสู่การเรียนรู้ฐานสมรรถนะเพื่อตอบสนองการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ 21
ด้วยกระบวนการจัดการเรียนรู้เชิงรุก (Active Learning) การขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา โดยมีนายกำพล สิริรัตตนนท์ รองผู้ว่าราชการจังหวัด นายเสรี ตุ้มอ่อน ศึกษาธิการจังหวัดอุบลราชธานี ผู้แทนจากหน่วยงานราชการ ผู้บริหารสถานศึกษา ครู และบุคลากรทางการศึกษา เข้าร่วม

.
จากนั้น คณะฯ เดินทางได้ลงพื้นที่ศึกษาดูงานด้านการศึกษาในเรื่อง การพัฒนาการจัดการเรียนการสอนสู่การเรียนรู้ฐานสมรรถนะฯ ของโรงเรียนบ้านเด็กวารินชำราบ อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี และเรื่อง การพัฒนาเด็กปฐมวัยของโรงเรียนอนุบาลอุบลราชธานี อ.เมือง จ.อุบลราชธานี โดยคณะอนุกรรมาธิการฯ จะนำข้อมูลและข้อเสนอแนะต่าง ๆ ที่ได้รับจากการลงพื้นที่ในครั้งนี้เพื่อพิจารณาดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจของวุฒิสภาต่อไป

ภาพ/ข่าว ฤทธิรณ ปัญญากาบ ทีมข่าวไทยเกอร์นิวส์ รัฐสภา รายงาน

กมธ.การศึกษา วุฒิสภา ลงพื้นที่ศึกษาดูงานด้านการศึกษาจังหวัดศรีสะเกษ

กมธ.การศึกษา วุฒิสภา ลงพื้นที่ศึกษาดูงานด้านการศึกษาจังหวัดศรีสะเกษ

.
วันที่ 20 มีนาคม 2566 เวลา 13.00 นาฬิกา ณ โรงเรียนไพรบึงวิทยาคม อำเภอไพรบึง จังหวัดศรีสะเกษ คณะกรรมาธิการการศึกษา วุฒิสภา นำโดย พลเอก ประสาท สุขเกษตร รองประธานคณะกรรมาธิการ คนที่สอง และประธานคณะอนุกรรมาธิการ ตสร. ด้านการศึกษา ศึกษาดูงานด้านการศึกษา และประชุมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น รับฟังสภาพปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินงานในประเด็นการพัฒนาเด็กปฐมวัย การพัฒนาการจัดการเรียนการสอนสู่การเรียนรู้ฐานสมรรถนะเพื่อตอบสนองการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ 21 ด้วยกระบวนการจัดการเรียนรู้เชิงรุก (Active Learning)

และการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา โดยมี นายสำรวย เกษกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ นายอุดมศักดิ์ เพชรผา ศึกษาธิการจังหวัดศรีสะเกษ นายสุจินต์ หล้าคำ ผู้อำนวยการโรงเรียนไพรบึงวิทยาคม ผู้แทนจากหน่วยงานราชการ ครูและบุคลากรทางการศึกษา เข้าร่วมทั้งนี้ คณะอนุกรรมาธิการจะนำข้อมูลและข้อเสนอแนะต่าง ๆ ที่ได้รับจากการลงพื้นที่ในครั้งนี้ เพื่อพิจารณาดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจของวุฒิสภาต่อไป

ภาพ/ข่าว ฤทธิรณ ปัญญากาบ ทีมข่าวไทยเกอร์นิวส์ รัฐสภา รายงาน

คณะผู้แทนรัฐสภาไทยเข้าร่วมการประชุมสมัชชาสหภาพรัฐสภา ครั้งที่ 146 ณ กรุงมานามา ราชอาณาจักรบาห์เรน เป็นวันที่ห้า

วันที่ 15 มีนาคม 2566 คณะผู้แทนรัฐสภาไทย นำโดย นางพิกุลแก้ว ไกรฤกษ์ สมาชิกวุฒิสภา ในฐานะรองประธานสหภาพรัฐสภา (สัดส่วนกลุ่มเอเชีย-แปซิฟิก) พร้อมด้วย นายเกียรติ สิทธีอมร สมาชิกสภาผู้แทนราษฏร ศาสตราจารย์เกียรติคุณไกรสิทธิ์ ตันติศิรินทร์ สมาชิกวุฒิสภา และนายอนุศาสน์ สุวรรณมงคล สมาชิกวุฒิสภา เข้าร่วมการประชุมสมัชชาสหภาพรัฐสภา ครั้งที่ 146 และการประชุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง (The 146th IPU Assembly and related meetings) ระหว่างวันที่ 11-15 มีนาคม 2566 ณ ศูนย์การประชุม Exhibition World Bahrain กรุงมานามา ราชอาณาจักรบาห์เรน เป็นวันที่ห้า ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการประชุม โดยสรุปภารกิจของคณะผู้แทนรัฐสภาไทย ได้ดังนี้
การประชุมคณะมนตรีบริหาร (Governing Council) สมัยที่ 211 ในวาระที่สอง ในช่วงเช้า ซึ่งที่ประชุมได้พิจารณาเรื่องต่าง ๆ ในระเบียบวาระที่ค้างการพิจารณาต่อเนื่องจากวาระที่หนึ่งเมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2566 ได้แก่ รับทราบรายงานสถานะทางการเงินปัจจุบันของสหภาพรัฐสภา ที่ยังคงอยู่ในสถานะมั่นคง เนื่องจากได้รับเงินบริจาคสมทบโดยสมัครใจจากประเทศสมาชิกบางประเทศ และองค์การหุ้นส่วนต่าง ๆ แม้ว่าประเทศสมาชิกจำนวนหนึ่งยังคงค้างชำระค่าบำรุงสมาชิกประจำปีติดต่อกันก็ตาม ทั้งนี้ เนื่องจากรายงานของผู้ตรวจสอบภายนอก (external auditors) ยังคงอยู่ระหว่างการจัดทำ จึงขอยกไปนำเสนอในการประชุมคณะมนตรีบริหารครั้งถัดไป จากนั้น รับทราบการรายงานสถานการณ์ของรัฐสภาสมาชิกบางประเทศ (Situation of certain parliaments) ซึ่งอยู่ระหว่างไม่มีรัฐสภาทำหน้าที่อันเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองภายในประเทศที่ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญในวิถีประชาธิปไตย หรือรัฐสภาไม่สามารถทำหน้าที่ได้ตามปกติ ตามที่คณะกรรมการบริหาร IPU เสนอ รวม 20 ประเทศ พร้อมทั้งรับทราบสถานะความคืบหน้าของเพลงประจำสหภาพรัฐสภา (IPU Anthem) และรับทราบพัฒนาการของโครงการนำร่องสำนักงานระดับภูมิภาคของ IPU ที่อุรุกวัย ในภูมิภาคละตินอเมริกาและแคริบเบียน และอียิปต์ ซึ่งมีข้อสรุปให้เป็นสำนักงานระยะทดลองประจำภูมิภาคอาหรับ

จากนั้น ที่ประชุมคณะมนตรีบริหารฯ ได้พิจารณาคำวินิจฉัย (decisions) ของคณะกรรมการว่าด้วยสิทธิมนุษยชนของสมาชิกรัฐสภา (Committee on the Human Rights of Parliamentarians) ต่อกรณีข้อร้องเรียนการละเมิดสิทธิมนุษยชนของสมาชิกรัฐสภาจากประเทศสมาชิกทั่วโลก โดยในครั้งนี้มีกรณีที่คณะกรรมการฯ ได้เสนอเข้าสู่ที่ประชุม ทั้งหมด 14 กรณี จาก 10 ประเทศ

ในวาระดังกล่าว นายเกียรติ สิทธีอมร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะผู้แทนรัฐสภาไทย ได้ร่วมอภิปรายต่อที่ประชุม โดยตั้งคำถามไปยังประธานคณะกรรมาธิการว่าด้วยสิทธิมนุษยชนของสมาชิกรัฐสภา ว่าเหตุใดในรายงานต่อที่ประชุมคณะมนตรีบริหารฯ จึงไม่ปรากฎกรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชน 2 กรณีสำคัญ ของประเทศในภูมิภาคอาเซียนเพื่อนบ้านของไทย ได้แก่ กรณีสมาชิกรัฐสภา 62 คนของเมียนมา และกรณี Ms. Leila de Lima สมาชิกวุฒิสภาของฟิลิปปินส์ ซึ่งทั้งสองกรณีดังกล่าวได้ถูกหยิบยกขึ้นเป็นกรณีสำคัญในกิจกรรมการเสวนาพิเศษที่จัดโดยคณะกรรมาธิการว่าด้วยสิทธิมนุษยชนของสมาชิกรัฐสภาเมื่อวันที่ 14 มี.ค. 66 โดยในกรณีของเมียนมา ที่มีการประหารชีวิตนักโทษการเมือง 4 คน เมื่อปีที่แล้ว โดยหนึ่งในนั้นเป็นอดีตสมาชิกรัฐสภา คือ Mr. Phyo Zeyar Thaw ซึ่งเป็นเพื่อนของตน และการประหารชีวิตนักโทษการเมืองเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ทุกกรณี และเรียกร้องให้ IPU ยกระดับดำเนินการในการกดดันรัฐบาลเมียนมาให้ยุติการข่มเหงรังแกสมาชิกรัฐสภาฝ่ายตรงข้ามดังกล่าว และเร่งมุ่งหน้าสู่จัดการเลือกตั้งตามวิถีประชาธิปไตยโดยเร็ว รวมถึงเรียกร้องให้ประเทศสมาชิก IPU ร่วมให้การสนับสนุนด้านมนุษยธรรมแก่ประเทศไทยที่รับดูแลผู้ลี้ภัยจากเมียนมาจำนวนมากที่ข้ามพรมแดนมาแสวงหาที่ปลอดภัยในประเทศไทย

ส่วนกรณีที่สองที่ Ms. Leila de Lima สมาชิกวุฒิสภาของฟิลิปปินส์ถูกคุมขังก่อนการพิจารณาคดี เป็นเวลานานถึง 6 ปี และจนถึงขณะนี้ยังไม่มีคดีใดที่มีหลักฐานเพียงพอที่จะเอาผิดกับ Ms. De Lima ตามที่ถูกกล่าวหาได้แม้แต่คดีเดียว โดยที่มีรายงานว่าพยานหลายคนซึ่งถูกบังคับขู่เข็ญในตอนแรกได้ถอนคำให้การหรือเปลี่ยนคำให้การในภายหลัง ดังนั้น เมื่ออำนาจรัฐในฟิลิปปินส์ได้เปลี่ยนมือจึงเป็นโอกาสอันดีที่ IPU ยกระดับการเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวสมาชิกวุฒิสภารายดังกล่าวของฟิลิปปินส์โดยทันที ต่อประเด็นดังกล่าวที่คณะผู้แทนรัฐสภาไทยได้หยิบยกขึ้นนั้น เลขาธิการสหภาพรัฐสภาได้ชี้แจงต่อที่ประชุมว่าในการรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของคณะกรรมาธิการฯ ต่อที่ประชุมคณะมนตรีบริหารในแต่ละครั้ง จะหยิบเฉพาะกรณีใหม่ หรือกรณีที่มีพัฒนาการความคืบหน้า โดยไม่สามารถหยิบทุกกรณีที่อยู่สารบบของคณะกรรมาธิการฯ ที่มีปริมาณมาก เข้าสู่ที่ประชุมได้ทั้งหมด สำหรับกรณีทั้งสองที่คณะผู้แทนไทยหยิบยกขึ้นมานั้น ได้ผ่านการพิจารณาโดยคณะกรรมาธิการฯ ในช่วงปลายเดือนมกราคม 2566 และได้เผยแพร่รายงานดังกล่าวก่อนหน้านี้แล้ว อย่างไรก็ดี IPU จะติดตามกรณีดังกล่าวอย่างใกล้ชิดและนำพัฒนาการมารายงานต่อไป ทั้งนี้ IPU ยินดีที่จะรับข้อมูลเพิ่มเติมที่จะเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณากรณีทั้งสอง
ต่อมาในช่วงบ่าย ที่ประชุมได้รับฟังรายงานสรุปผลการจัดกิจกรรมการประชุมเฉพาะด้าน (specialized meetins) รวม 19 รายการ ที่ IPU จัดขึ้นในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา ทั้งในรูปแบบปกติและในรูปแบบผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ พร้อมทั้ง เห็นชอบข้อเสนอการปรับปรุงอำนาจหน้าที่ และวิธีการทำงานของคณะกรรมาธิการสามัญสหภาพรัฐสภาว่าด้วยกิจการสหประชาชาติ ที่เสนอโดยคณะกรรมาธิการฯ จากนั้น รับฟังการรายงานจากคณะกรรมการเฉพาะด้าน (specialized bodies) ซึ่งเป็นหน่วยที่อยู่ภายใต้อาณัติของคณะมนตรีบริหารฯ รวม 8 คณะ รวมถึง คณะทำงานเฉพาะกิจว่าด้วยการแก้ไขปัญหาวิกฤตในยูเครนด้วยสันติวิธี ตลอดจน การเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาที่เสนอชื่อโดยประเทศสมาชิกเพื่อดำรงตำแหน่งในคณะกรรมการชุดต่างๆ ใน IPU ที่ว่างลง ตามสัดส่วนของกลุ่มภูมิรัฐศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรรมการบริหารสหภาพรัฐสภา 2 ตำแหน่งจากสวีเดน (กลุ่ม Twelve Plus) และ DR Congo (กลุ่มแอฟริกา) รวมถึง ตำแหน่งที่ว่างลงอีก 16 ตำแหน่ง ในคณะกรรมการที่อยู่ภายใต้อาณัติของคณะมนตรีบริหารฯ รวม 5 คณะ ตลอดจน ได้เห็นชอบการปรับปรุงแก้ไขข้อบังคับของ IPU ว่าด้วยรางวัลเครเมอร์-พาซี (Cremer-Passy Prize: MP of the Year Award) หรือรางวัลสมาชิกรัฐสภาแห่งปีของ IPU ที่เสนอโดยคณะกรรมการบริหารฯ โดยในปี 2566 นี้ IPU จะพิจารณามอบรางวัลเกียรติยศดังกล่าวให้แก่สมาชิกรัฐสภาที่มีผลโดดเด่นในด้าน climate change

ในช่วงเย็น ที่ประชุมเต็มคณะได้เปลี่ยนเข้าสู่การพิจารณาวาระของสมัชชา (Assembly) ซึ่งที่ประชุมได้รับรองแถลงการณ์มานามา (Manama declaration) ซึ่งเป็นเอกสารผลลัพธ์ของการอภิปรายทั่วไปของที่ประชุมสมัชชา ที่เน้นย้ำถึงความมุ่งมั่นของรัฐสภาประเทศสมาชิกในการส่งเสริมหลักการอยู่ด้วยกันอย่างสันติ ภายใต้การยอมรับและเคารพความแตกต่าง และร่วมกันส่งเสริมความหลากหลายทางด้านศาสนาและวัฒนธรรม รวมถึงได้รับฟังรายงานจากคณะกรรมาธิการสามัญของ IPU ที่เกี่ยวข้อง โดยที่ประชุมได้มีมติโดยฉันทานุมัติรับรองร่างข้อมติฉบับที่เสนอโดยคณะกรรมาธิการสามัญสหภาพรัฐสภาว่าด้วยสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ ในเรื่องอาชญากรรมไซเบอร์ และฉบับที่เสนอโดยคณะกรรมาธิการสามัญสหภาพรัฐสภาว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน ในเรื่องบทบาทของป่าในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ตลอดจน มีมติรับรองหัวข้อเรื่องซึ่งจะจัดทำเป็นร่างข้อมติในอนาคตของคณะกรรมาธิการสามัญทั้งสองคณะดังกล่าว ในหัวข้อเกี่ยวกับ ผลกระทบของอาวุธอัตโนมัติที่ไร้คนควบคุมและปัญญาประดิษฐ์ และการส่งเสริมพลังงานสีเขียวที่เข้าถึงได้ ตามลำดับเพื่อรับรองในห้วงการประชุมสมัชชา ครั้งที่ 148 ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส พร้อมทั้งรับรองการแต่งตั้งผู้นำเสนอรายงานร่วม (co-rapporteurs) ที่เกี่ยวข้อง อีกด้วย

ก่อนพิธีปิดการประชุม ที่ประชุมได้รับชมคลิปวีดิทัศน์ประชาสัมพันธ์การเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสมัชชา ครั้งที่ 147 ณ กรุงลูอันดา สาธารณรัฐแองโกลา ในเดือนตุลาคม 2566 และได้รับฟังคำกล่าวปิดการประชุมจากประธานกลุ่มภูมิรัฐศาสตร์ทั้ง 6 กลุ่ม ตามธรรมเนียมปฏิบัติของ IPU ในตอนท้าย ที่ประชุมได้รับฟังถ้อยแถลงปิดการประชุมของ Mr. Duarte Pacheco ประธานสหภาพรัฐสภา และ H.E. Mr. Ahmed bin Salman Al-Musallam ประธานสภาผู้แทนราษฎรบาห์เรน ก่อนที่ประธานสภาผู้แทนราษฎรบาห์เรนในฐานะประธานสมัชชาฯ จะปิดการประชุมสมัชชาสหภาพรัฐสภา ครั้งที่ 146 ลงอย่างเป็นทางการในเวลา 17.30 นาฬิกา

อนึ่ง หลังจากเสร็จสิ้นพิธีปิดการประชุม คณะผู้แทนรัฐสภาไทยได้แสดงความยินดีกับประธานสภาผู้แทนราษฎรบาห์เรนในฐานะประเทศเจ้าภาพและประธานสหภาพรัฐสภา ที่ประสบความสำเร็จในการร่วมกันเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสมัชชาในครั้งนี้ ได้อย่างยิ่งใหญ่เป็นที่น่าประทับใจ

ภาพ/ข่าว ฤทธิรณ ปัญญากาบ ทีมข่าวไทยเกอร์นิวส์ รัฐสภา รายงาน

กมธ. สิทธิมนุษยชนฯ ลงพื้นที่ติดตามการขับเคลื่อนของสภาองค์กรชุมชนตำบลกับยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม กรณีศึกษา “สิทธิชุมชนกับการบริหารจัดการน้ำ” จังหวัดสุพรรณบุรี

วันที่ 17 มีนาคม 2566 เวลา 09.30 นาฬิกา ณ ที่ว่าการอำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา นำโดย นายอนุศักดิ์ คงมาลัย รองประธานคณะกรรมาธิการฯ และประธานคณะอนุกรรมาธิการ ตสร. พร้อมด้วยนายนิพนธ์ นาคสมภพ โฆษกคณะกรรมาธิการฯ และคณะอนุกรรมาธิการ ตสร. ร่วมประชุมเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับสภาองค์กรชุมชนตำบลทั้ง 5 ตำบล ได้แก่ (1) สภาองค์กรชุมชนตำบลตะค่า (2) สภาองค์กรชุมชนตำบลจรเข้ใหญ่ (3) สภาองค์กรชุมชนตำบลองครักษ์ (4) สภาองค์กรชุมชนตำบลสาลี และ (5) สภาองค์กรชุมชนตำบลกฤษณา รวมทั้งองค์การบริหารส่วนตำบลและส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ในประเด็นกลไกการขับเคลื่อนการบริหารจัดการน้ำและการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในพื้นที่ โดยมีนายธีรยุทธ์ จันทร์ดิษฐวงษ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี ได้ให้การต้อนรับ


จากนั้น เวลา 13.00 นาฬิกา คณะกรรมาธิการฯ ได้ประชุมเชิงปฏิบัติการ “เรียนรู้การเขียนผังน้ำเบื้องต้น” และ “การจัดทำแผนงานจัดการน้ำชุมชน” โดยมีคณะทำงานจากสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) หรือ สสน. นำโดย ดร. รอยบุญ รัศมีเทศ รองผู้อำนวยการ สสน. ร่วมให้ความรู้และเป็นพี่เลี้ยงให้กับแกนนำชุมชนตำบล ณ ที่ว่าการอำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี และเมื่อเวลา 15.00 นาฬิกา ได้เดินทางลงพื้นที่ศึกษาดูงานการบริหารจัดการน้ำในชุมชนในพื้นที่ตำบลตะค่า อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี

สำหรับพื้นที่ในเขตอำเภอบางปลาม้านั้น เป็นพื้นที่ที่ยังคงประสบกับปัญหาน้ำท่วม – น้ำแล้งซ้ำซากมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน คณะกรรมาธิการจึงมีแนวคิดที่จะดำเนินการโครงการชุมชนเข้มแข็ง “สื่อสารชาญฉลาด จัดการน้ำ นำคุณภาพวิถีชีวิต” เพื่อทดลองขับเคลื่อนแนวคิดการบริหารจัดการน้ำชุมชนด้วยการสื่อสารอย่างมีส่วนร่วมจากภาคประชาชน โดยอาศัยสภาองค์กรชุมชนตำบลในพื้นที่เป็นกลไกในการเชื่อมโยงการดำเนินงาน ซึ่งการลงพื้นที่ในครั้งนี้ คณะกรรมาธิการคาดหวังว่า ชุมชนที่ประสบกับปัญหาการบริหารจัดการน้ำทั้ง 5 ตำบลในเขตพื้นที่บางปลาม้าจะเกิดประกายความคิด เกิดการตื่นรู้ในเรื่องการสร้างโอกาสและความเสมอภาคในการใช้น้ำภายในชุมชน ตลอดจนชุมชนได้เรียนรู้ที่จะพึ่งพาตนเองและจัดการกันเองได้อย่างมีคุณภาพ อันนำไปสู่เป้าหมายสำคัญของยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคมต่อไป

ภาพ/ข่าว ฤทธิรณ ปัญญากาบ ทีมข่าวไทยเกอร์นิวส์ รัฐสภา รายงาน